xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวร่างระเบียบ หนุนร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิง ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยการร่วมลงทุนโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ หนุนร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิง ศก.

วันนี้ (7มี.ค.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยการร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการร่วมลงทุนในโครงการที่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติประกาศกำหนด สามารถร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณประโยชน์ ได้

ร่างระเบียบฯ ดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่ (1) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (2) หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์ด้านการวิจัยและนวัตกรรมตามที่สภานโยบายฯกำหนด และ (3) หน่วยงานอื่นของรัฐตามที่สภานโยบายฯ กำหนด

2. วัตถุประสงค์การร่วมลงทุนเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ แบ่งออกเป็น 2 ข้อ คือ (1) สร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคม หรือ เชิงสาธารณประโยชน์ และ (2) สร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน หรือสร้างให้เกิดธุรกิจฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรายใหม่

3. รูปแบบการร่วมลงทุน 4 รูปแบบ คือ (1) ร่วมลงทุนกับเอกชนจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (2) จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน
(3) รูปแบบอื่นนอกจาก (1) และ (2) ให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานเจ้าของโครงการ และ (4) หน่วยงานเจ้าของโครงการอาจจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนให้ดำเนินการร่วมลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นหรือบริษัท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ได้

4. วิธีการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน 2 วิธี คือ (1) คัดเลือกจากเอกชนอย่างน้อยสามรายที่เข้ายื่นข้อเสนอร่วมลงทุน โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือก 1) มีความโปร่งใสและเป็นธรรมกับเอกชนทุกรายที่เข้ายื่นข้อเสนอ และ 2) เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติ ประสบการณ์ ความพร้อม และความสามารถในการเข้าร่วมลงทุนเหมาะสมตามเกณฑ์ ที่กำหนด และ (2) ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเชิญชวนเฉพาะเอกชนซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ

5. การพิจารณาอนุมัติโครงการร่วมลงทุน ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติโครงการร่วมลงทุนพิจารณาความสอดคล้องของนโยบายการร่วมลงทุน ข้อเสนอและเงื่อนไขการร่วมลงทุน และความเป็นไปได้ทางธุรกิจ แผนธุรกิจ และแผนการจัดการความเสี่ยง รวมถึงความพร้อมของผู้ร่วมทุนและประสบการณ์

“ที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นส่งเสริมด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะเน้นให้ผลงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณประโยชน์ได้จริง และพยายามดำเนินการส่งเสริมให้มีมาตรการในการส่งเสริมให้งานวิจัยและนวัตกรรมที่สอดคล้องตามความต้องการของภาคการผลิตและบริการ รวมถึงแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการสร้างและกระจายประโยชน์ในภาพรวมให้แก่ประเทศได้มากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป” น.ส.ทิพานัน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น