สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตระหนักว่าประชากรคนไทยไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน อยู่ในภาคการเกษตร จึงไม่มองข้ามที่จะให้ความช่วยเหลือ ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสนใจ วช. จึงสนับสนุน "งานวิจัยการประเมินและเปรียบเทียบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการจัดการของเกษตรกรรายย่อยและการรวมกลุ่มเกษตรกร ทำนาแปลงใหญ่สู่ทางเลือกเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก” จากผลงานวิจัยของ รศ.ดร.นพพล อรุณรัตน์ แห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พิสูจน์ให้เห็นผลงานวิจัยผ่านชุมชน ท้องถิ่น จำนวน 2 ชุมชน คือ 1.กลุ่มเกษตรกรพอเพียงตำบลรังนก และ 2.กลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านบึงประดู่ ว่าช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยเพิ่มกำไรสุทธิ และ ช่วยสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มได้จริง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา วช. ให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกร ชุมชน และท้องถิ่น เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรคนไทยไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน อยู่ในภาคการเกษตร ขณะเดียวกัน เกษตรกรรมปัจจุบันนับว่ามีผลต่อการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นแหล่งสะสมคาร์บอน เช่น การปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์จากนาข้าวและพื้นที่ปศุสัตว์ ดังนั้นการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมจึงเป็นแนวทางที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นแนวทางที่มีศักยภาพเชิงต้นทุน (คุ้มค่าในการลงทุน) อย่างมาก ดังนั้น งานวิจัย “การประเมินและเปรียบเทียบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการจัดการของเกษตรกรรายย่อยและการรวมกลุ่มเกษตรกร ทำนาแปลงใหญ่สู่ทางเลือกเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ของ รศ.ดร.นพพล อรุณรัตน์ แห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นการตอบโจทย์ถึงแนวทางที่จะเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ให้สามารถทำนาแปลงใหญ่สู่ทางเลือกเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นด้วย
รศ.ดร.นพพล กล่าวว่า การจัดทำโครงการงานวิจัยฯเพื่อประเมินและเปรียบเทียบด้านสิ่งแวดล้อม (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ การใช้พลังงาน การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก) และด้านเศรษฐกิจ (ต้นทุนและผลตอบแทน) ของเกษตรกรรายย่อย และการรวมกลุ่มเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่ เป็นประเมินทางเลือกในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของระบบผลิตข้าว ตลอดห่วงโซ่การผลิต และศึกษาบทบาทของการสื่อสาร การมีส่วนร่วม และการจัดการของเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่ โดยจุดเด่นของผลการดำเนินงานโครงการสำหรับงานวิจัยครั้งนี้ คือ องค์ความรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการทำนาแปลงใหญ่ และประโยชน์ของการรวมกลุ่มของเกษตรกร และทำให้เกษตรกรในชุมชนเห็นว่า การทำนาแปลงใหญ่ ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตข้าว (ช่วยลดโลกร้อน) ช่วยลดการปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ประกอบกับ การทำ “นาแปลงใหญ่” ดีต่อรายได้ ช่วยเพิ่มกำไรสุทธิให้กับเกษตรกร และการทำ “นาแปลงใหญ่” ยังดีต่อสังคมช่วยสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม เห็นศักยภาพของสมาชิกในกลุ่ม เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดกระบวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารภายในชุมชนเพื่อเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมกลุ่มนาแปลงใหญ่ แกนนำกลุ่มมักเริ่มต้นจากการพูดให้เกษตรกรเข้าใจและยอมรับปัญหาของตนเอง เช่น ปัญหาหนี้สิน การทำนาแล้วขาดทุน ขาดองค์ความรู้เรื่องข้าว พร้อมกับเน้นให้เกษตรกรติดตามรับฟังนโยบายของรัฐบาลที่สื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ
สำหรับการสื่อสารภายนอกกลุ่ม หรือ การสื่อสารระหว่างกลุ่ม มักสื่อสารผ่านการฝึกอบรม และแปลงเรียนรู้ จนนำไปสู่ความสำเร็จที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ผ่านงานวิจัยนี้คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยในชุมชน ท้องถิ่น จำนวน 2 ชุมชน คือ 1.กลุ่มเกษตรกรพอเพียงตำบลรังนก และ 2.กลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านบึงประดู่ เมื่อเกษตรกรนำกระบวนการทำนาแบบแปลงใหญ่ไปปฏิบัติ ซึ่งได้เห็นผลจากงานวิจัยนี้ที่บ่งชี้ว่าช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยเพิ่มกำไรสุทธิ และที่สำคัญช่วยสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม และได้ใช้ประโยชน์ ได้ความรู้จากโครงการวิจัยนี้ ในการอบรมสมาชิกใหม่ เกษตรกรอื่น ๆ ที่เข้ามาอบรมและดูงานในพื้นที่ นับได้ว่าเป็นผลกระทบเชิงบวกจากงานวิจัย หรือ การต่อยอดงานวิจัยเกษตรรายย่อย และการรวมกลุ่มเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่สู่ทางเลือกเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก