xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านท่ามะกาบุกศาลากลางยื่นหนังสือคัดค้านขอประทานบัตรเหมืองแร่โรงโม่หิน หวั่นได้รับผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - “กำนันบอย” นำชาวบ้าน ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี บุกศาลากลางยื่นหนังสือคัดค้านขอประทานบัตรเหมืองแร่โรงโม่หิน หวั่นได้รับผลกระทบต่อประชาชน ยกโรงโม่จังหวัดสระบุรีเป็นตัวอย่าง

วันนี้ (7 มี.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี นายปารเมศ โพธารากุล หรือกำนันบอย เกษตรกร และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย น.ส.พัดชา โสดสงค์ นำชาวบ้านหมู่ 6 บ้านเขาช่อง ต.เขาสามสิบหาบ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี กว่า 60 คน ยื่นหนังสือให้ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อคัดค้านการขอประทานบัตรการสัมปทานเหมืองแร่หินแกรนิต และการตั้งโรงโม่หินของบริษัทเอกชน โดยมีว่าที่ ร.ต.ศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้รับมอบ มีนายอนุชา หอยสังข์ นายอำเภอท่ามะกา น.ส.อารยา ไสลเพชร อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี นายอนันท์ชัย ทองสีนุช ป้องกันจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมสังเกตการณ์

นอกจากยื่นหนังสือคัดค้านฉบับดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านที่มายังได้นำป้ายคัดค้านมาชูให้เจ้าหน้าที่ได้เห็น เช่น ป้ายที่นำมามีข้อความระบุว่า “ขอความเห็นใจพวกเราชาวบ้านเถอะ อย่าทำลายทรัพยากร และสุขภาพของพวกเราเลย X คัดค้านสัมปทานเหมืองแร่X” “สุขภาพหนูดีอยู่แล้ว อย่าทำร้ายหนูเลย ไม่เอาโรงโม่หิน” “มันจะอยู่กับเรานานเกิน 30 ปี หยุดมลพิษทางอากาศและเสียง” “ไม่ใช่คนขายเขา แค่คนขายข้าวแกง บ้านนี้ไม่เอาโรงโม่หิน” และ “พวกหนู NO ไม่เอาเหมืองแร่ ร่วมใจ ปกป้อง ไม่สร้างเหมือง ไม่สร้างมลพิษ” เป็นต้น

ทั้งนี้ ว่าที่ ร.ต.ศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ท่านปารเมศ โพธารากุล หรือกำนันบอย ในฐานะที่ท่านได้เข้าไปคลุกคลีอยู่กับประชาชน ซึ่งเป็นการดีที่พี่น้องประชาชนที่มาได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามพระราชบัญญัติเหมืองแร่ ที่มีขั้นตอนการขอประทานบัตรเหมืองแร่ แต่ขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งพี่น้องชาวตำบลเขาสามสิบหาบ และหมู่บ้านใกล้เคียงได้มีการแสดงความคิดเห็นกันมาแล้ว ความคิดเห็นนั้นมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ซึ่งในส่วนนี้อุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องนำเรียนไปถึงผู้มีอำนาจในการอนุมัตินั่นคืออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งอำนาจในการอนุมัตินั้นไม่ได้ขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะช่วยในการกลั่นกรองคำคัดค้านจากอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้ข้อความคัดค้านของพี่น้องประชาชนตกหล่น เมื่อข้อความคัดค้านถูกส่งไปถึงกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณา ซึ่งมีทั้งอนุญาตออกประทานและไม่ออกประทานบัตรให้ มันเป็นไปได้ทั้งสองแนวทาง ซึ่งหลังจากรับหนังสือแล้วตนจะรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นทราบต่อไป

ด้าน นายปารเมศ โพธารากุล หรือกำนันบอย ได้กล่าวกับว่าที่ ร.ต.ศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ที่มารับหนังสือว่า ถึงแม้ผู้ว่าราชการจังหวัดจะไม่มีอำนาจในการอนุญาตออกใบประทานบัตรก็ตาม หากท่านผู้ว่าฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหรือหากท่านผู้ว่าฯ แสดงความคิดเห็นว่าไม่สมควรที่จะออกประทานบัตรให้ เพราะจะเกิดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน มันจะทำให้มีน้ำหนัก ซึ่งผู้ว่าฯ เป็นพ่อเมือง จะต้องรับรู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชน

ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าโรงโม่ต่างๆ ที่มี เช่น โรงโม่ที่อำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรี หรือที่จังหวัดราชบุรี จะพบเป็นกลุ่มโรงโม่หินที่ไม่ใช่มีแค่โรงโม่โรงเดียว ซึ่งหากอนาคตมีโรงโม่ขั้นมาในพื้นที่ตำบลเขาสามสิบหาบ เป็นสิบโรงโม่ นั่นจะเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนโดยแท้จริง ซึ่งพื้นที่อำเภอท่ามะกา มีเส้นทางในการขนส่งหินอยู่เป็นจำนวนมาก และขอยกตัวอย่างโรงโม่หินที่จังหวัดสระบุรี ว่า ถนนที่เป็นถนนสายเมนมีเศษหินเศษฝุ่นปลิวตกกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันเราต่างรู้กันอยู่แล้วว่าในระดับนานาชาติกำลังรณรงค์เรื่องฝุ่น PM 2.5 กันอยู่ ซึ่งทุกวันนี้ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพฯติด 1 ใน 10 ของโลกแล้ว

โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยเนื่องจากหินที่ได้จากโรงโม่มันมีความสำคัญเพราะประเทศชาติจะต้องมีการพัฒนา แต่ขอให้โรงโม่เหล่านี้ไปหาจุดที่ดีที่สุดที่ไม่ไปรบกวนชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดได้ลงชื่อคัดค้านทั้งหมด 2,329 รายชื่อ โดยไม่ต้องไปบังคับใคร ซึ่งอยากให้ทางจังหวัดไปสุ่มสำรวจดูก่อนก็ได้ว่าชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบภูเขาที่บริษัทเอกชนยื่นขอประมาณกว่า 400 ไร่ เขาจะเอาโรงโม่หรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าไม่มีใครต้องการเอาโรงโม่มาตั้งเอาไว้ใกล้บ้านของตนเองอย่างแน่นอน

น.ส.อารยา ไสลเพชร อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ขั้นตอนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่กรณีคำขอประทานบัตรที่ 1/2562 ของบริษัท สกลการอุตสาหกรรม จำกัด เขตท้องที่หมู่ที่ 6 ตำบลเขาสามสิบหาบ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ศาลาอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลเขาสามสิบหาบ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

โดยการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และมีประชาชนทั้งในพื้นที่ขอประทานบัตร และที่อยู่ภายในระยะใกล้เคียง รวมถึงที่อยู่นอกพื้นที่เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่นอกพื้นที่คัดค้านการขอประทานบัตรและโรงโม่หิน

ต่อมา วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินการรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ขอประทานบัตร ดังนี้ 1.ที่ทำการ จรท. 2.ที่ว่าการอำเภอท่ามะกา 3.ที่ว่าการอำเภอท่าม่วง 4.ที่ทำการ อบต.เขาสามสิบหาบ 5.ที่ทำการกำนันตำบลพังตรุ 6.ที่ทำการกำนันตำบลเขาสามสิบหาบ 7.ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 และ 8.ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9

โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรีได้แนบรายชื่อผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นใน พื้นที่ที่ขอประทานบัตรเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเข้าถึงข้อมูลตามคำร้องขอของผู้คัดค้าน และได้รายงานการคัดค้านการขอประทานบัตรโรงโม่หินให้ผู้มีอำนาจทราบแล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น