เชียงใหม่ - สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ประสานเสียงผู้ใหญ่บ้านดอยสุเทพ ชี้แจงกรณีโดนถล่มหนักประเด็นขุดพื้นที่ซับน้ำใกล้น้ำตก ปปป.ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กลายสภาพเป็นสระน้ำ ยืนยันไม่ได้ทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศ แต่เป็นเพียงการขุดลอกตะกอนดินและทรายทับถมในฝายกักเก็บน้ำดั้งเดิมของหมู่บ้าน ตามคำร้องขอของราษฎรเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำที่ต้องเผชิญหน้าต่อเนื่องมาหลายปี โดยมีการทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ส่วนต้นไม้ที่เห็นยืนต้นตายมีอยู่ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว
ความคืบหน้ากรณีเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 66 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพสภาพพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ซับน้ำขนาดใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งอยู่ติดกับถนนช่วงทางขึ้นสู่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ที่ถูกขุดเข้าไปจนถึงด้านในที่เป็นน้ำตกเพื่อปรับพื้นที่ทำเป็นสระน้ำ เป็นการทำลายสภาพเดิมที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ รวมทั้งทำให้ต้นไม้ตายไปแล้วหลายต้นและยังมีที่กำลังจะตายอีกด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และยังอยู่ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้าด้วย โดยตั้งข้อสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวได้รับอนุญาตหรือไม่ และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หรือไม่ อย่างไร ซึ่งภายหลังจากที่มีการโพสต์แล้วได้มีผู้แชร์ต่อและแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ตำหนิการดำเนินการดังกล่าวและอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น สร้างความเสียหายแก่ธรรมชาติและระบบนิเวศ ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่และควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างดีในการดูแลปกป้องธรรมชาติ
วันนี้ (2 มี.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก "สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16-เชียงใหม่" โพสต์ชี้แจงกรณีดังกล่าว ระบุว่า "สืบเนื่องจากมีผู้โพสต์ลง Facebook ในนาม Jiraporn Meewasana เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เกี่ยวกับการขุดปรับพื้นที่ในบริเวณหน้าน้ำตก ปปป. ว่าสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย นั้น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ขอชี้แจงว่าเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลตำบลสุเทพ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านดอยสุเทพ และผู้เกี่ยวข้อง ได้มีการแจ้งถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในหมู่บ้านกรณีปัญหาภัยแล้ง แหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ จึงได้เสนอโครงการปรับปรุงซ่อมแซมฝายน้ำล้น บริเวณใกล้น้ำตก ปปป. ซึ่งเคยเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้อุปโภค บริโภคที่สำคัญของราษฎรในหมู่บ้านพื้นที่ใกล้เคียง และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีน้ำตกไหลมีแหล่งน้ำใสสะอาด แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีดินโคลนน้ำป่าไหลหลากทำให้มีตะกอนทับถมเต็มในบริเวณพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนเกิดน้ำป่าไหลหลากก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อชุมชนและนักท่องเที่ยว ต่อมาจังหวัดเชียงใหม่ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 แจ้งมายัง สบอ.16 (เชียงใหม่) เพื่อให้พิจารณาสนับสนุนการปรับปรุง ซ่อมแซม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และ สบอ.16 (เชียงใหม่) ได้มีหนังสือ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 แจ้งให้อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุยดำเนินการ ซึ่งอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย พิจารณาแล้ว
เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเดิมเคยเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญของราษฎรในหมู่บ้าน และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป และที่ผ่านมาในช่วงฤดูฝนเกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลาก พัดพาดินโคลนและตะกอนลงบนถนน ก่อให้เกิดอันตรายเกิดอุบัติเหตุต่อผู้สัญจรไปมา และต่อนักท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นการดำเนินการในบริเวณพื้นที่เดิม เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศไม่มาก ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ป้องกันการเกิดภยันตราย ป้องกันภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลาก สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ในการช่วยดูแล รักษาป่า ป้องกันไฟป่า ทางอุทยานฯ จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามระเบียบหลักเกณฑ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกำหนด ซึ่งจะเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีระหว่างภาคประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในการดูแลรักษาป่า และเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทางอุทยานฯ และภาคประชาชนจะได้ร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าวโดยการปลูกพืชที่สามารถกักเก็บน้ำได้ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในบริเวณดังกล่าวต่อไป"
ขณะที่นายขจร ประเสริฐศรี อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9 บ้านดอยสุเทพ เปิดเผยว่า การดำเนินการดังกล่าวมีจุดเริ่มจากความต้องการของราษฎรในพื้นที่ที่ต้องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และใช้ป้องกันแก้ไขดับไฟป่าที่เกิดขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการขุดลอกตะกอนดินและทรายที่ทับถมบริเวณดังกล่าวที่เป็นฝายกักเก็บน้ำดั้งเดิมของชุมชนมาตั้งแต่ตัวเองเกิดและโตในชุมชนแห่งนี้ โดยเมื่อช่วงปลายปี 2565 ได้ทำหนังสือร้องขอผ่านทางคณะกรรมาธิการ ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ระหว่างลงพื้นที่ ซึ่งได้ตอบรับพร้อมประสานงานกับทางจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) รวมทั้งอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ตามขั้นตอน กระทั่งมีการอนุญาตให้ทางหมู่บ้านดำเนินการขุดลอกตะกอนดินและทรายบริเวณฝายดังกล่าวใกล้กับน้ำตก ปปป. เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 65 โดยใช้เงินทุนของหมู่บ้านและแรงงานของราษฎรในหมู่บ้านเป็นหลัก รวมทั้งมีในส่วนของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ช่วยด้วย จนแล้วเสร็จใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 3 วัน
ทั้งนี้ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านดอยสุเทพ ยืนยันว่า การดำเนินการทุกอย่างมีการแจ้งร้องขออย่างเป็นทางการและทางอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยทราบเรื่องมาตั้งแต่แรกเริ่ม และไม่ได้ทำลายธรรมชาติที่สมบูรณ์หรือระบบนิเวศแต่อย่างใด โดยเป็นเพียงการขุดลอกตักตะกอนดินและทรายที่ทับถมสะสมมานานหลายสิบปีขึ้นมากองเป็นคันดินเท่านั้น เพื่อให้ฝายที่เป็นแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ของหมู่บ้านมาแต่เดิมสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ นอกจากนี้ย้ำด้วยว่าในการดำเนินการนั้น ไม่มีการตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว ส่วนที่พบเห็นยืนต้นตายอยู่นั้น เป็นต้นไม้ที่ยืนต้นตายอยู่เดิมแล้ว ไม่ได้ยืนต้นตายเพราะการขุดลอกฝายแต่อย่างใด ขณะเดียวกันระบุว่าบริเวณดังกล่าวนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้าด้วย