xs
xsm
sm
md
lg

จับ “จักจั่น” ขายอีกหนึ่งหนทางสร้างรายได้งามชาวสวนลำไยสอยดาว-โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - จับ “จักจั่น” ขายอีกหนึ่งหนทางสร้างรายได้งามชาวสวนลำไย อ.สอยดาว-โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี แต่น่าเสียดายมีช่วงเวลาให้จับแค่ 1 เดือนเท่านั้น โดยมีตลาดรับซื้อใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน ราคาสุดงาม 250-320 บาทต่อ กก.

ในทุกช่วงปลายเดือน ม.ค.-ก.พ.ของทุกปีชาวสวนลำไยในพื้นที่ จ.จันทบุรี จะมีรายได้พิเศษที่เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากการเก็บผลผลิตลำไยออกขายตามฤดูกาล นั่นคือ การจับจักจั่นขายให้ผู้รับซื้อในพื้นที่ภาคอีสาน ที่จะเดินทางมาซื้อถึงตลาดศูนย์รับซื้อใน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ในช่วงเวลา 22.30 น.ของทุกวัน

โดยตลาดแห่งนี้ถือเป็นตลาดใหญ่ที่ผู้รับซื้อรู้กันว่าจะมีเกษตรกรนำจักจั่นที่จับได้มาขายเป็นจำนวนมาก และหากยิ่งรู้ว่าเป็นจักจั่นจากจ.จันทบุรี จะพากันแย่งรับซื้อจนขายแทบไปทัน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่จะใช้เวลาเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงในช่วงกลางคืนออกหาจักจั่นที่จะทำโพรงอยู่ใต้ต้นลำไยจนสามารถจับได้ไม่น้อยกว่า 200-300 กก.ต่อเดือนเลยทีเดียว


จากการสอบถาม นายสุทัศน์ นาควัน อายุ 58 ปี ชาวบ้านประดู่งาม ม.1 ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี เกษตรชาวสวนลำไยบอกว่าในช่วงปลายเดือน ม.ค.-ก.พ.ของทุกปีตนจะมีรายได้จากการจับจักจั่นส่งขายคืนละเกือบหลักพันบาท

ส่วนวิธีการจับทำได้ไม่ยาก เพราะเพียงแค่ใช้ไฟสีฟ้าผูกติดกับกิ่งลำไยเพื่อล่อให้จักจั่นบินมาชนกับแผ่นพลาสติกใสที่นำมาผูกไว้กับต้น และนำผืนผ้าใบวางใต้ต้นลำไยเพื่อรอให้จักจั่นร่วงลงมาพัก ก็สามารถจับใส่ถุงเตรียมขายได้ทันที

เพราะในทุกค่ำคืนช่วงปลายเดือน ม.ค.-ก.พ. สวนลำไยของชาวบ้านจะมีจักจั่นพากันส่งเสียงร้องดังลั่น และชาวบ้านจะรู้กันดีว่าบริเวณโคนต้นลำไยจะมีรูที่จักจั่นขุดไว้เพื่ออาศัยเนื่องจากโคนต้นลำไยจะมีใบไม้ร่วงทับถมจนกลายเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของจักจั่น และนี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ในช่วงฤดูกาลนี้ชาวสวนลำไยในพื้นที่ จ.จันทบุรี จะไม่มีการเก็บเศษใบไม้ในสวน


ส่วนจักจั่นที่จับขายจะมี 2 แบบ คือ แบบตัวแก่ ที่บินเกาะบนต้นลำไย ซึ่งราคาขายจะอยู่ที่ประมาณ 180-250 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาในแต่ละวันจะขึ้นลงไม่เท่ากัน

แต่หากเป็นตัวอ่อนจักจั่นที่มักอาศัยอยู่บริเวณโคนต้นลำไย หรือที่เรียกกันว่านางฟ้า ราคาขายจะสูงถึง 250-320 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาขายจะขึ้นลงแล้วแต่วันเช่นกัน ซึ่งหากเป็นจักจั่นลอกคราบแล้วจะถือว่ามีราคาแพงมากที่สุด และยังเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้บริโภค

ขณะที่เมนูยอดนิยมในการนำจักจั่นไปทำอาหารจะมีทั้งตำป่น คั่ว ทอด ขณะที่บางรายจะนำไปทำเป็นเมนูแกงส้มใส่หน่อไม้เปรี้ยว รวมทั้งผัดกะเพราะ และเมนูอื่นๆ แล้วแต่จะคิด


เช่นเดียวกับ นายณรงค์ ธรรมรัตน์ ชาวบ้าน ม.15 ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี บอกว่า จักจั่นจะมีให้จับได้อย่างเต็มที่เพียง 1 เดือนเท่านั้น คือ ช่วงปลายเดือน ม.ค. ถึงปลายเดือน ก.พ.ของทุกปี และในพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีเฉพาะใน อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.สอยดาว ที่มีการทำสวนลำไยเป็นจำนวนมากเท่านั้น

โดยครอบครัวของตนจะใช้เวลาในการจับจักจั่นตั้งแต่ประมาณ 19.00-21.00 น. และจะนำมาขายในตลาดรับซื้อที่ อ.สอยดาว ไม่เกิน 22.00 น. เนื่องจากจะมีพ่อค้ามารับนำไปส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหากเป็นต้นฤดูจะสามารถจับจักจั่นได้มากถึง 6-7 กิโลกรัมต่อคืน สร้างได้ถึงหลักพันบาทเลยทีเดียว

ส่วนเคล็ดลับการจับจักจั่น คือ ต้องมีไฟส่องที่หัว เตรียมอุปกรณ์ล่อให้จักจั่นบินมารวมกันและต้องใช้ไฟสีฟ้าเท่านั้น ห้ามใช้หลอดนีออนตามบ้านเพราะจะทำให้เกิดแสงสว่างในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งจะทำให้จักจั่นไม่รวมตัวกันอยู่ในจุดเดียว และเมื่อจับจักจั่นได้ห้ามนำใส่รวมในถุงปุ๋ย แต่รวมไว้ในถุงตาข่ายที่มีอากาศถ่ายเทอย่างเช่นมุ้งสีฟ้า ที่นำมาเย็บถุงเป็นเท่านั้น


ขณะที่ น.ส.สุกัญญา สุนา หรือเจ๊นา แม่ค้ารับซื้อจักจั่น บอกว่า จักจั่นที่รับซื้อจะมีคนกลางนำไปขายต่ออีกทอด ซึ่งจักจั่น เป็นที่ชื่นชอบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะแถวอุดรธานี และสกลนคร เพราะมีรสชาติหวาน มัน ซึ่งในคืนหนึ่งๆ จะมีคำสั่งซื้อ 100-200 กิโลกรัม

และเมื่อถามว่า จักจั่นจำนวนมากใส่ในลังจะตายหรือไม่ตาย ได้รับคำตอบว่าผู้ค้าจะใช้วิธีการน็อกน้ำแข็ง (ทำให้สลบ) เมื่อถึงปลายทาง จักจั่นฟื้นจะส่งเสียงร้องตามปกติ ซึ่งการใช้วิธีนี้จะไม่ทำให้จักจั่นตายและได้รับความทรมานแต่อย่างใด






กำลังโหลดความคิดเห็น