xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยจับมือ สสส.WHO ลุยโครงการ "ห้องปลอดฝุ่น" ปกป้องปอดคนภาคเหนือสู้วิกฤตฝุ่นควันพิษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - กรมอนามัย ผนึกความร่วมมือ สสส.และองค์การอนามัยโลก พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย เปิดตัวโครงการ "ห้องปลอดฝุ่น" หวังดูแลปกป้องสุขภาพประชาชน รับมือวิกฤตมลพิษอากาศภาคเหนือ นำร่องต้นแบบที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่เสี่ยง ระบุพบมีเด็กอายุ 0-6 ขวบ กว่า 2.6 ล้านคน อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจาก PM 2.5


วันนี้ (20 ก.พ. 66) ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานเปิดตัวโครงการ "ห้องปลอดฝุ่น" ซึ่งกรมอนามัย พร้อมด้วยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), องค์การอนามัยโลก(WHO), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สมาคมส่งเสริมคุณภาพอากาศในอาคาร และภาคีเครือข่าย ร่วมกันดำเนินการเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก เริ่มสร้างต้นแบบที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่เสี่ยง และขยายความร่วมมือจัดเตรียมในสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงอื่นต่อไป โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และวิกฤตทางคุณภาพอากาศจากหมอกควัน และไฟป่า อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) หลายพื้นที่

ทั้งนี้ นายแพทย์ อรรถพลเปิดเผยในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง นวัตกรรมห้องปลอดฝุ่นและขับเคลื่อนชุมชนเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างยั่งยืนว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐานจนอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จากฐานข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 การเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจในประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย อย่างไรก็ดีการเจ็บป่วยเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้และมีความสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน

ขณะเดียวกัน รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับปฏิบัติการ โดยหนึ่งในมาตรการที่สำคัญ คือ การผลักดันให้มีการจัดทำ "ห้องปลอดฝุ่น" ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้ประชาชนได้อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศสะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพในช่วงที่มี PM 2.5 สูง ทั้งนี้ ห้องปลอดฝุ่นมีหลักการคือ "กันฝุ่นเข้า กรองฝุ่นภายในห้อง และดันฝุ่นออก" ซึ่งสามารถทำได้ทั้งที่บ้านและสถานที่สาธารณะทั่วไป โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ รวมถึงปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะของปอดและคุณภาพชีวิตในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีเด็กอายุ 0-6 ขวบกว่า 2.6 ล้านคน อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจาก PM 2.5

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการขับเคลื่อนห้องปลอดฝุ่น โดยการพัฒนาแนวทางและต้นแบบห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 30 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และขยายผลสู่สถานที่ต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากมลพิษทางอากาศ รวมถึงได้มีการจัดทำแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลห้องปลอดฝุ่นเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถค้นหาห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่ใกล้เคียง และสืบค้นองค์ความรู้ต่างๆ ได้ อีกทั้งยังดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา แกนนำชุมชน สมาคมเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการจัดทำห้องปลอดฝุ่น แนวทางการขับเคลื่อนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและร่วมจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน


ด้าน นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า มลพิษทางอากาศมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่าที่ผ่านมาอยู่ในระดับสีแดง ดังนั้น เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจาก PM 2.5 สสส.จึงสานพลังกับกรมอนามัย เปิดตัว "ห้องปลอดฝุ่น" ซึ่งเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลดโอกาสการสัมผัสมลพิษทางอากาศภายในอาคารในภาวะที่เกิดฝุ่นละอองสูงในบรรยากาศ ช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยจะเริ่มสร้างต้นแบบที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่เสี่ยง และจะขยายความร่วมมือในสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศต่อไป

ขณะที่ ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO Thailand) กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งในการรับมือกับมลพิษทางอากาศเพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวตามเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่งในปีนี้ WHO ร่วมกับกรมอนามัย ดำเนินการรวบรวมและเผยแพร่ Best Practice ทั้งนวัตกรรมห้องปลอดฝุ่น และแนวทางการขับเคลื่อนชุมชนที่มีการจัดการและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่ดี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่พื้นที่และประเทศอื่นๆ ต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น