xs
xsm
sm
md
lg

ชาวศรีสวัสดิ์บุกศาลากลางค้านออกประทานบัตรให้บริษัทเอกชนทำเหมืองแร่ หวั่นผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ชาวศรีสวัสดิ์บุกศาลากลาง ค้านออกประทานบัตรให้บริษัทเอกชนทำเหมืองแร่ หวั่นกระทบทั้งทางน้ำ อากาศ เสียง และแหล่งทำกิน

วันนี้ (6 ธ.ค.) นายวีรเดช สอนใจ แกนนำได้นำชาวบ้านหมู่ 4 บ้านสามหลัง-ท่าลำไย ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการรังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อทำเหมืองแร่ชนิดเฟลด์สปาร์ โดยได้ปิดประกาศเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบโดยทั่วกัน เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียโต้แย้งคำขอประทานบัตรภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันปิดประกาศเอาไว้ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.65

ผู้ร้องคัดค้านได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ ‘คณะทำงานตรวจสอบการขอประทานบัตร ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง คำขอประทานบัตรที่ 3/2565’ มีวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์ปกป้องชุมชนและมีส่วนร่วมกับรัฐในการปกป้อง อนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเขาโจด และพื้นที่โดยรอบและเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย องค์กรชุมชนเพื่อการดำเนินการดังกล่าว

รวมทั้งตรวจสอบการขอประทานบัตรเมืองแร่ชนิดเฟลด์สปาร์ ของบริษัทเอกชนด้วย จึงมีความประสงค์ที่จะคัดค้านและเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดำเนินการทบทวนและยกเลิกคำขอจดทะเบียนประทานบัตร 3/2565 เนื้อที่ 257 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ชนิดเฟลด์สปาร์ การยื่นหนังสือครั้งนี้มีนายกรกรณ์ อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี และนางอารยา ไสลเพชร อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้รับมอบ 
ทั้งนี้ นายวีรเดช สอนใจ กล่าวว่า การสูญเสียที่อาจจะได้รับผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งระบบนิเวศ กล่าวคือ ทรัพยากรธรรมชาติทางด้านป่าไม้ ป่าชุมชน ป่าน้ำซับซึม ป่าต้นน้ำ ระบบนิเวศ รวมถึงแหล่งน้ำที่สำคัญจะถูกทำลายโดยสิ้นเชิง เช่น พื้นที่ป่าที่ชาวบ้านในชุมชนได้ใช้สอยในการดำรงชีพมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รวมถึงแหล่งน้ำของลำห้วยกระพร้อย ที่ไหลลงสู่โครงการอ่างเก็บน้ำกระพร้อย 
ส่วนความเสียหายที่อาจจะได้รับต่อการประกอบอาชีพ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนเกษตรกรรม ที่พึ่งพาทั้งแหล่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของภูเขา เมื่อมีการทำสัมปทานเมืองแร่แล้วการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ และวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน

นอกจากนี้ พื้นที่เขตคำขอประทานบัตรดังกล่าวอยู่ห่างจากชุมชน โรงเรียน วัด และสถานที่ท่องเที่ยวเพียง 1 กิโลเมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนในด้านสุขภาพร่างกายและด้านจิตใจ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย

การรังวัดกำหนดเขตพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 กล่าวคือ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการแร่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ

รวมถึงกำหนดให้จัดทำข้อมูลเขตแหล่งแร่ที่จะอนุญาตให้ทำเหมืองไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 โดยรัฐจะอนุญาตให้ทำเหมืองได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ กำหนดให้เป็นพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2560

ข้อเท็จจริงในพื้นที่นี้ปรากฏว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวในการรังวัดกำหนดเขตประทานบัตรเป็นเขตในการดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และเขตเตรียมผนวกของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ รวมถึงเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ หรือป่าน้ำซับซึมที่เชื่อมไหลสู่แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชนในพื้นที่ 
ดังนั้น ทั้งการประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดพื้นที่เขตแหล่งแร่ การรังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตร รวมถึงการประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่องการขอประทานบัตรของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นั้น จะต้องมีการยกเลิกประกาศดังกล่าวเสียก่อน และให้มีการสำรวจจัดทำข้อมูลขึ้นใหม่ เพื่อนำไปประกอบพิจารณาในการกำหนดเขตแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมืองต่อไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติ พ.ศ.2560

โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่จะต้องไม่ใช้พื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ที่จะต้องมีการกันพื้นที่ดังกล่าวออกเสียก่อนที่จะมีประกาศกำหนดเป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ต่อไป
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น และอาศัยตามสิทธิในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 มาตรา 43 กำหนดไว้ว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูหรือส่งเสริม ภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ จัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิถีการกำหนดบัญญัติและสิทธิคัดค้านการปิดประกาศของการประทานบัตร
 
ดังนั้น ผู้ร้องคัดค้านจึงขอใช้สิทธิตามหลักสิทธิชุมชนและสิทธิตามกฎหมาย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทบทวนและยกเลิกคำขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่เฟลด์สปาร์ดังกล่าวเสียนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และแจ้งผลการดำเนินการภายใน 15 วัน เพื่อผู้คัดค้านและประชาชนตำบลเขาโจด รวมถึงประชาชนหมู่บ้านใกล้เคียงให้ทราบต่อไปด้วย
 
ด้านนางอารยา ไสลเพชร อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ขั้นตอนการขออนุญาตการขอประทานบัตร ตอนนี้อยู่ในขบวนการยื่นคำขอ และอยู่ในระหว่างการปิดประกาศ 30 วัน ชาวบ้านเห็นว่ามีการปิดประกาศเลยตกใจ จึงได้รวมตัวกันมาคัดค้าน ขณะนี้กระบวนการยังไม่ได้เกิดอะไรขึ้นและยังไม่มีการดำเนินการอะไรแต่อย่างใด และตอนนี้ในพื้นที่มีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ การสร้างเหมืองจะเหลืออยู่ประมาณ 50- 60 ไร่ ซึ่งผู้ประกอบการจะมองว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือเปล่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ต้องนำมาประมวลใหม่นี่คือเรื่องที่หนึ่ง เรื่องที่สองคือ เมื่อเรื่องไปถึงขั้นตอนเปิดเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็น ชาวบ้านมีสิทธิคัดค้านอยู่แล้ว อุตสาหกรรมจะรับเรื่องคัดค้านเอาไว้ทั้งหมด จากนั้นจะทำเรื่องไปถึงส่วนกลางเพื่อพิจารณาต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น