รายงานพิเศษ
กลุ่มชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานดั้งเดิม 4 ชุมชน คือ ชุมชนห้วยกระซู่ ชุมชนห้วยหินเพิง ชุมชนสาริกา ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี และชุมชนป่าหมาก ต.ศาลาลัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อ กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 เพื่อขอให้จัดสรรที่ดินแปลงรวมสำหรับทำการเกษตรตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ที่เรียกกันว่า “ไร่หมุนเวียน” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ไม่สามารถทำดินได้ตามวิถีดั้งเดิม หลังพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
สำหรับเนื้อหาในเอกสารของ ชุมชนชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ระบุว่า
“กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมอยู่อาศัยและทำกินในป่าแก่งกระจาน ด้วยการทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพตามวิถีทำกินแบบไร่หมุนเวียนซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน ซึ่งการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ได้รับการศึกษายอมรับว่าเป็นการเกษตรที่เหมาะสมกับป่าไม้เขตร้อนเช่นประเทศไทย และสามารถรักษาความยั่งยืนและความสมดุลของระบบนิเวศในเขตป่าตามธรรมชาติ และช่วยให้พื้นที่ป่าได้รับผลเสียหายจากการทำเกษตรกรรมน้อยที่สุด แต่ด้วยนโยบายของรัฐที่ผ่านมา มีกรณีที่กลุ่มชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมถูกบังคับอพยพลงมาจากพื้นที่เดิม ถูกปฏิเสธการทำกินแบบไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิม แต่จัดสรรพื้นที่ทำกินให้ครอบครัวละ 5 ไร่ ซึ่งไม่เพียงพอในการทำกินตามวิถีดั้งเดิม อีกทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานยังมีข้อจำกัดและข้อห้ามหลายประการ หากฝ่าฝืนจะเสียสิทธิทำกินในที่ดินผืนนั้น หรือหากทำกินล้ำเส้นจากพื้นที่ที่กำหนด จะถูกจับกุมดำเนินคดี เงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้เท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ต้องจำยอมละทิ้งวิถีไร่หมุนเวียนเพื่อการยังชีพตามวิถีดั้งเดิม ละทิ้งสิทธิที่เคยมีมาแต่ดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และยอมรับหลักเกณฑ์ในฐานะของการจัดที่ดินให้กับผู้ยากไร้”
ในข้อเรียกร้องของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ยังอ้างอิงถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ให้กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และให้ขึ้นทะเบียนวิธีการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเห็นว่า ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กลับเพิกเฉยต่อมติคณะรัฐมนตรีฉบับนี้
ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ยังกล่าวถึง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ที่ได้รับการแก้ไขเมื่อปี 2562 ซึ่งในบทเฉพาะกาล มาตรา 64 และมาตรา 65 มีบัญญัติเนื้อหาสาระของกฎหมายที่ยอมรับ “ความมีอยู่ของชุมชนดั้งเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติ” และมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนดั้งเดิมในเขตอุทยานให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีการดำรงชีวิตตามปกติดั้งเดิม ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียนที่เป็นการดำรงชีพตามปกติของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมซึ่งอาศัยทำกินอยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมากว่าร้อยปีก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตอุทยาน
หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 กลุ่มชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานดั้งเดิมจึงได้พยายามเรียกร้องต่อ “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” และ “อุทยานแห่งชาติกุยบุรี” มาตั้งแต่ปี 2563 ขอให้มีการหารือร่วมกับชุมชนทั้งสองแห่ง เพื่อรับรองการจัดสรรที่ดินแปลงรวมให้ชาวกะเหรี่ยงมีที่ดินสำหรับทำไร่หมุนเวียน โดยได้จัดทำรายละเอียดของของแผนแนบไปด้วย ตั้งแต่ แนวแผนผังพื้นที่ทำกินโดยสังเขป รายชื่อสมาคมเพื่อทำแปลงรวมไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แนวพื้นที่ป่าใช้สอย และขอให้อุทยานฯ จัดให้มีคณะทำงานร่วมกันระหว่างตัวแทนชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยาน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักการตามมาตรา 64 และมาตรา 65 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562
แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ข้อเสนอการจัดสรรที่ดินแปลงรวมเพื่อทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน กลับถูกปฏิเสธจากอุทยานฯ โดยทางอุทยานฯ ยืนยันให้ต้องใช้สิทธิในลักษณะแปลงส่วนตัวในรูปแบบเดิมเท่านั้น และยังประกาศว่าหากราษฎรคนใดไม่มาแจ้งสิทธิ ถือได้ว่ามีเจตนาสละสิทธิการครอบครองที่ดิน และยังอ้างประกาศหลักเกณฑ์การแจ้งการครอบครอง ตามแนวนโยบายของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ว่า ไม่ให้ถือเป็นการให้สิทธิในที่ดิน และหากผู้แจ้งได้รับการพิจารณาให้ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงที่แจ้งได้ก็จะได้สิทธิในการทำประโยชน์เป็นการชั่วคราวมีกำหนดเวลาไม่เกิน 20 ปี และได้สิทธิทำประโยชน์ในเนื้อที่ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วราษฎรผู้ได้รับสิทธิไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องใดๆ ต่อทางอุทยาน
ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เห็นว่า แนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อุทยานฯทั้ง 2 แห่ง ประกาศออกมา ถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ เพราะกฎหมายมิได้มุ่งแก้ปัญหาและรับรองแต่เพียงการขอใช้สิทธิส่วนตัวเพื่อประโยชน์ให้แก่ผู้ยากไร้เพียงอย่างเดียว แต่มุ่งให้สิทธิในลักษณะที่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนในพื้นที่ด้วย และสามารถขอใช้สิทธิใช้ประโยชน์ในรูปแบบแปลงรวมของชุมชนอีกด้วย
ด้วยเหตุผลนี้ กลุ่มชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานดั้งเดิมทั้ง 4 ชุมชน จึงมีข้อเรียกร้องต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวทถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้พิจารณาดำเนินการเพื่อสนับสนุนตามข้อเรียกร้องของกลุ่มที่มีต่ออุทยานแห่งชาติกุยบุรีและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้รับรองวิถีการใช้ประโยชน์ด้วยการทำไร่หมุนเวียนของชุมชน ถือเป็นการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ
ข้อ 2 จัดให้มีระบบการจัดการที่แน่นอนของการทำไร่หมุนเวียนลักษณแปลงรวม และการหารือระหว่างอุทยานและชุมชนแต่ละพื้นที่ โดยให้มีกระบวนการหารือร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติ กับชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมแต่ละพื้นที่ และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ
ข้อ 3 ขอให้สั่งการให้อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและแก่งกระจานพิจารณาคำขอ และจัดให้มีคณะกรรมการร่วมกันระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่อุทยาน เรื่องการจัดแปลงรวมทำไร่หมุนเวียน และให้ร่วมกันกำหนดแนวขอบเขตของพื้นที่ที่จะทำไร่หมุนเวียน ป่าใช้สอย และป่าพิธีกรรม และนำเสนอต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว แล้วนำไปบัญญัติไว้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติในร่างพระราชกฤษฎีกา ตามความในมาตรา 64 และในร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามความในมาตรา 65
ข้อ 4 ให้เพิกถอนประกาศ/ระเบียบที่ตัดสิทธิราษฎรที่ตกหล่นจากการไม่ได้แจ้งสิทธิครอบครองที่ดินภายใน 240 วัน