xs
xsm
sm
md
lg

เดือดไม่เลิก “ชลธี นุ่มหนู” โพสต์เฟซบุ๊กระบุนักการเมืองจ้างสื่อเขียนข่าวโจมตี แนะทำการบ้านให้มากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - เดือดไม่จบ “ชลธี นุ่มหนู” โพสต์เฟซบุ๊กระบุนักการเมืองบางคนเล่นไม่เลิก ลงทุนจ้างสื่อเขียนข่าวโจมตี อ้างผลงาน 3 ปี จับทุเรียนอ่อนแค่พันลูก แนะทำการบ้านให้มากขึ้น ด้าน ส.ผู้ผลิตทุเรียนไทยเตรียมยื่นหนังสือ “มนัญญา” ขอความชัดเจนแก้ปัญหาทุเรียนตะวันออก

จากกรณีที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของรายการ "สนธิ ทอล์ก" ได้ออกมาเปิดโปงขบวนการค้าทุเรียนอ่อนที่กำลังทำลายตลาดส่งออกทุเรียนไทยที่มีตลาดใหญ่อยู่ในประเทศจีน ซึ่งกำลังถูกตีตลาดโดยทุเรียนจากประเทศเวียดนามที่สามารถรักษาคุณภาพทุเรียนได้ดีกว่า พร้อมระบุว่า ต้นตอใหญ่ของการทำลายทุเรียนไทยมาจากความโลภของเจ้าของสวน และล้งส่งออกผลไม้

รวมทั้งนักการเมืองบางรายที่ให้การสนับสนุนล้งส่งออกที่แอบยัดไส้ทั้งทุเรียนอ่อน และทุเรียนสวมสิทธิ โดยหวังรักษาเพียงผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง

อีกทั้งเรื่องของที่มาของคำสั่งย้ายฟ้าผ่า นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 ให้เข้าทำงานที่กรมวิชาการเกษตร ทั้งที่มีผลงานการแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อน และทุเรียนสวมสิทธิจนเป็นที่ประจักษ์ และปัจจุบันปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้เซ็นอนุมัติให้ นายชลธี ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่ามา

แต่ดูเหมือนว่ากระแสต่อต้านเรื่องการหากินกับทุเรียนอ่อนและทุเรียนสวมสิทธิได้ลุกลามไปไกลถึงกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ที่ขณะนี้กำลังมีผลผลิตทุออกสู่ตลาด และเชื่อตรงกันว่าที่มาของการลาออกจากราชการของ นายชลธี นุ่มหนู มาจากการขวางทางทำมาหากินของกลุ่มผู้ค้าทุเรียนอ่อนที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาลนั้น

วันนี้ (5 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชลธี นุ่มหนู อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยอลัพัฒนาการเกษตร เขต 6 หรือ สวพ.6 ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงนักการเมืองบางคนโดยระบุข้อความว่า


“นักการเมืองบางคนเล่นไม่เลิก ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ทำแบบนี้ เพราะตอนนี้ผมลาออกมาเป็นชาวสวนธรรมดาแล้ว การจ้างสื่อเขียนข่าวโจมตีให้ร้ายจะไปมีผลดีอะไรได้ กลับแสดงถึงความกลวงที่ไม่มีอะไรในหัว ไม่รู้ว่าทุเรียนอ่อนไม่ได้มีกฎหมายรองรับ ไม่รู้วิธีการทำงานของทีมเล็บเหยี่ยว เลิกเถอะครับท่าน”

และทันทีที่โพสต์ดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ปรากฏว่า ได้มีชาวเน็ตและเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ได้เข้ามาต่อว่ากลุ่มการเมืองที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานในเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายชลธี นุ่มหนู ยังได้โพสต์ภาพสื่อบางเว็บไซต์และบางเพจข่าวที่มีการพาดหัวข่าวว่า “โชว์ผลงานมือปราบทุเรียนอ่อน เผย 3 ปี “ชลธี” จับทุเรียนอ่อนได้เพียงพันกว่าลูก แต่ไม่เคยจับทุเรียนสวมสิทธิแม้แต่รายเดียว ” พร้อมโพสต์ภาพ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในข่าวดังกล่าวเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นผู้ให้ข่าว แต่ในเนื้อข่าวกลับไม่ระบุชื่อว่าผู้ให้ข่าวคือ “นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ”

ขณะที่บางเนื้อข่าวได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการจับกุมทุเรียนสวมสิทธิตั้งแต่ปี 2563-2565 การจับกุมทุเรียนอ่อน ปี 2565 และยังมีหมายเหตุกำกับไว้ว่าปี 2563-2565 ไม่มีคดีทุเรียนอ่อนที่ดำเนินการโดย สวพ.6 และ สวพ.6 มีหน้าที่ตรวจสอบทุเรียนอ่อนโดยตรงหน่วยเดียว และตรวจทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนสวมสิทธิก่อนปิดตู้เพื่อส่งออกหรือเคลื่อนย้ายทุเรียนออกจากล้ง


อย่างไรก็ดี นายชลธี นุ่มหนู อดีต ผอ.สวพ.6 ได้แสดงความเห็นว่าทั้งคนเขียนและคนให้ข่าวไม่รู้หรือเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ในภาคตะวันออก และควรทำการบ้านให้มากๆ ทั้งนี้ เพราะ สวพ.6 ไม่มีอำนาจหรือกฎหมายในการเอาผิดต่อผู้กระทำผิดเรื่องทุเรียนอ่อน ที่ผ่านมาจึงแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาผลไม้ไม่ได้คุณภาพแต่ละคณะ

เช่น การตรวจ มาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานประกอบการ การบังคับใช้กฎหมาย และอื่นๆ จากนั้นแต่ละจังหวัดในภาคตะวันออก (จันทบุรี ระยอง และตราด) ซึ่งจะออกเป็นประกาศจังหวัด และเริ่มดำเนินการที่ จ.จันทบุรี ก่อนกำหนดวันเก็บเกี่ยว หรือที่เรียกว่าวันตัดทุเรียนแต่ละชนิด พร้อมกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนแต่ละชนิดสำหรับใช้เป็นเกณฑ์ควบคุมคุณภาพ

“ส่วนเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเรื่องทุเรียนอ่อน จะเป็นคณะทำงานเฉพาะที่มีทั้ง สวพ.6 ฝ่ายปกครอง และตำรวจ ที่จะร่วมกันตรวจสอบกรณีพบทุเรียนอ่อนเกินกว่าร้อยละ 10 ของทุเรียนในล้ง ซึ่งการสุ่มตรวจทุเรียนก่อนส่งออกจะสุ่มคัดทุเรียนผ่าตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งอย่างน้อย 3 ลูก ที่กองอยู่ในล้ง คือ (ให้มือคัดของล้งคัดมา 1 ลูก จนท.สวพ.6 คัด 1 ลูก และฝ่ายปกครอง 1 ลูก ผ่าตรวจ) หาก 2 ใน 3 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งผ่านเกณฑ์ที่ประกาศจะอนุญาตให้แพกบรรจุขึ้นตู้ได้ แต่หากไม่ผ่านจะให้ทางล้งคัดแยกทุเรียนอีกครั้ง และสุ่มตรวจใหม่ ซึ่งจะทำแบบนี้เพื่อให้จำนวนทุเรียนอ่อนที่จะหลุดออกปลายตลาดปลายทางมีน้อยที่สุด”

นายชลธี ยังบอกอีกว่า ล้งที่ทำทุเรียนอ่อนขณะนี้มีเพียงไม่กี่ล้ง เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ และ สวพ.6 เข้มงวดกับการคัดแยกล้งสี โดยจะเฝ้าระวังล้งที่ถูกจัดอันดับให้เป็นสีแดงมากเป็นพิเศษ

ส่วนล้งสีเหลือง หรือสีส้มจะเฝ้าระวัง เมื่อตรวจพบทุเรียนอ่อนจะให้คัดแยกออกมา ทำตำหนิด้วยการพ่นสีแดง และห้ามนำกลับไปขายเป็นผลสด แต่สามารถนำไปแปรรูปได้ ซึ่งเมื่อพบว่ามีทุเรียนอ่อนเกินประกาศจังหวัด ฝ่ายปกครองพื้นที่นั้นๆ จะเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี โดยใช้กฎหมาย 2 เรื่อง คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค


“จึงอยากจะบอกให้รู้ว่า สวพ.6 ไม่มีกฎหมายเอาผิด ส่วนเรื่องทุเรียนสวมสิทธิ สวพ.6 ไม่มีอำนาจจับกุมที่หน้าด่านเพราะทุเรียนสวมสิทธิมี 2 แบบ คือ น้ำเข้ามาแล้วรีแพกใหม่ ซึ่งในส่วนนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของด่านตรวจพืช และหากพบสำแดงเอกสารอันเป็นเท็จก็จับกุมได้ทันที”

อีกกรณีการตรวจปิดตู้ส่งออกโดยไม่แจ้ง สวพ. แต่ละพื้นที่นั้นเจ้าหน้าที่ด่านปลายทางก่อนออกจากไทยจะทำการตรวจสอบอย่างละเอียด และหากพบต้องสงสัยจะขอรื้อตู้ตรวจสอบทั้งหมดเหมือนเช่นที่ด่านตรวจพืชมุกดาหาร และด่านตรวจพืชนครพนมที่ตรวจพบ

“เมื่อถามว่ามีบางเคสตรวจพบทุเรียนนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทยและตรวจพบที่ล้งบางแห่ง จึงมีการแจ้งความดำเนินคดี นั้นคงต้องกลับไปถามที่ด่านตรวจปล่อยว่าให้เข้ามาได้อย่างไร” นายชลธี กล่าว


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของกรมวิชาการเกษตร เริ่มกังวลใจเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมือง และนายชลธี นุ่มหนู จึงมีความพยายามในการส่งข้อความแจ้งไปยัง น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อแจ้งว่าเรื่องการเขียนข่าวโจมตี นายชลธี ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง

พร้อมระบุว่า เป็นฝีมือของคนบางกลุ่มที่ไม่พอใจ นายชลธี และนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องทุเรียนอ่อนและทุเรียนสวมสิทธิ

นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวยังได้รับแจ้งจาก นายวิโรจน์ เกียรติเก่งกล้า สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ว่าในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ ที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ และคณะจะเดินทางมาเปิดงานงานพืชสวนก้าวหน้า ที่ จ.จันทบุรี ตนเองได้หารือกับ นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทยแล้วว่าชาวสวนภาคตะวันออก และสมาคมฯ จะขอความชัดเจนจาก รมช.มนัญญา เกี่ยวกับการแก้ปัญหาทุเรียนภาคตะวันออกที่กำลังจะออกผลผลิตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

รวมทั้งทั้งการควบคุมคุณภาพทุเรียนจะเข้มข้นเหมือนปีที่ผ่านมา และการกำหนดมาตรฐานการส่งออก รวมถึงกฎหมายเอาผิดกลุ่มผู้ค้าทุเรียนอ่อน และอื่นๆ ด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น