ราชบุรี - รองผู้ว่าฯ ราชบุรี ลงพื้นที่ร่วมพิจารณาการขนย้ายถังสารเคมีกว่า 40 ถังหลังมีการลักลอบเจาะถังทำของเสีย และสารเคมีไหลลงผิวดิน ความเสียหายมากกว่า 60 ตัน
จากกรณีที่ได้มีชาวบ้านในพื้นที่ ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี ได้แจ้งมาว่า บ.แวกซ์กาเบ็จ ได้มีการนำรถแบ็กโฮมาเจาะถังของเสียที่ถูกเพลิงไหม้ทำให้ส่งกลิ่นเหม็น พบถังโลหะถูกเจาะประมาณ 40 ถัง ถังละ 200 ลิตร สารเคมีไหลออกจากถังและปนเปื้อนลงสู่ผิวดิน มีร่องรอยของการตัดโลหะใสข้างอาคารที่ถูกเพลิงไหม้ ซึ่งทางชาวบ้านได้มีการแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน และจะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมทั้งให้มีการดำเนินการฟื้นฟูแก้ไขพื้นที่บริเวณดังกล่าวที่ถูกเพลิงไหม้ มีสารเคมีและของเสียประมาณ 40 ถัง ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 พ.ย.65 นี้
ล่าสุด วันนี้ (21 พ.ย.) นายอุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย นายอานันท์ ฟักสังข์ อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี เจ้าหน้าที่กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ราชบุรี เจ้าหน้าที่จาก อบต.น้ำพุ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ตำบลน้ำพุ เข้าสังเกตการณ์ และตรวจสอบการขนย้ายถังสารเคมี ที่มีการเจาะ 40 ถัง และลงสู่พื้นดินประมาณ 60 ตัน หรือ 3 รถพ่วง
โดยจะมีการใช้แผ่นพลาสติกพีวีซีคลุมรถพ่วงก่อนชั้นแรก จากนั้นจะใช้รถแบ็กโฮตักดินวางรองพื้นกันรั่วลงสู่พื้นถนน ก่อนที่จะนำถังสารเคมีทั้ง 4 ถัง และดินที่ปนเปื้อนอยู่โดยรอบ ตักใส่ในพ่วงและทำการซีลปิดอีก 1 ชั้นเพื่อป้องกันการรั่วไหล ซึ่งรถพ่วงทั้ง 3 คันจะเดินทางไปที่บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด จังหวัดสระบุรี เพื่อนำไปบำบัด หรือกำจัดต่อไป
นายอุดม เพชรคุต กล่าวว่า วันนี้ให้ทางอุตสาหกรรมจังหว้ด ประสานกับบริษัทขนวัตถุมีพิษเอาไปกำจัดตามหลักวิชาการที่ จ.สระบุรี โดยให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี สำนักงานควบคุมมลพิษ สิ่งแวดล้อมภาค 8 ราชบุรี รวมไปถึงท้องถิ่นร่วมสังเกตการณ์เพื่อให้การขนย้ายเป็นไปอย่างถูกต้อง และเป็นที่พอใจของประชาชน โดยจะเร่งดำเนินการนำของเสียทั้งหมดที่อยู่ในโรงงานออกไปกำจัดให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งเร่งฟื้นฟูพื้นที่เพื่อให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้
นายอานันท์ ฟักสังข์ กล่าวว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายของเสียออกไปกำจัด ซึ่งทางผู้ประกอบการได้นำรถขนย้ายของเสียรวมกว่า 60 ตัน พร้อมมีมาตรการฟื้นฟู ส่วนการขนย้ายสารเคมีทั้งหมดนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานงานไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อมในการใช้เงินกองทุนส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยดำเนินการเคลื่อนย้าย ก่อนจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อไป