xs
xsm
sm
md
lg

คนอุบลฯ สะท้อนปัญหาน้ำท่วมหนักปี 65 หน่วยงานรัฐทำงานแย่มาก เศรษฐกิจเสียหายกว่า 6,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบลราชธานี - ชาวบ้านจังหวัดอุบลฯ  สะท้อนความทุกข์ ความเสียหายจากน้ำท่วมปี 2565 เพราะหน่วยงานรัฐแจ้งเตือนทำงานแย่มาก ทำให้ทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก หอการค้าคาดความเสียหายน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า
6,000 ล้านบาท กรมชลประทานเข็นโครงการแก้มลิงใช้รองรับน้ำปี 2566 และทำทางเบี่ยงน้ำแก้น้ำท่วมระยะยาว



ที่ห้องบุษยรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเวทีเสวนารับฟังความเห็นจากตัวแทนชุมชน ภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเมืองอุบลฯ ปี 2565 เพื่อสะท้อนปัญหาน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบกว่า 40 ปี โดยระดับน้ำท่วมปี 2565 มีความสูงถึง 11.51 เมตร รองจากน้ำท่วมปี 2521 เพียง 1 เมตรเศษ

พร้อมให้หน่วยงาน เช่น ผู้แทนศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวแทนกรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง เสนอแผนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในอนาคต

สำหรับเสียงสะท้อนปัญหาน้ำท่วมจากตัวแทนของภาคประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมส่วนใหญ่ระบุว่า น้ำท่วมปี 2565 ได้รับแจ้งระดับความสูงของน้ำที่ไหลท่วม เส้นทางน้ำที่ไหลมา และพื้นที่ที่ต้องถูกน้ำท่วม ไม่ตรงกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น คือ ได้รับการแจ้งเตือนระดับความสูงของน้ำท่วมต่ำกว่าระดับน้ำที่ท่วมจริง ทำให้อพยพข้าวของไม่พ้นน้ำ จึงเกิดความเสียหายต่อข้าวของเครื่องใช้ ต้องทิ้งไปหลังน้ำลดลง

ต้องอพยพหนีน้ำท่วมปีนี้ 2-4 ครั้ง ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายอพยพแต่ละครั้ง กลายเป็นภาระแก่ชาวชุมชนที่ถูกน้ำท่วม และเกิดน้ำท่วมยาวนานกว่าปกติ 1-3 เดือน


ทำให้กระทบต่อการประกอบอาชีพหาเลี้ยงคนในครอบครัว พร้อมเป็นภาระให้เจ้าของบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมต้องหาเงินมาฟื้นฟูบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย โดยภาครัฐสามารถช่วยเหลือเยียวยาได้ไม่ถึงร้อยละ 50 ของความเสียหายที่เกิดขึ้น

จึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความชัดเจน การแจ้งเตือนของระดับน้ำที่จะไหลท่วม เพื่อให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเตรียมขนย้ายของข้าวให้พ้นระดับน้ำที่จะไหลท่วม และหาจุดอพยพหนีน้ำไปอยู่ในระดับน้ำที่ท่วมไม่ถึง ไม่ต้องอพยพหนีน้ำซ้ำซากจนเกิดค่าใช้จ่ายหลายครั้ง และการช่วยเหลือเยียวยาต้องใกล้เคียงกับความเสียหายจริง เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตเหมือนปกติได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องแบกรับภาระหนี้สินจำนวนมากหลังน้ำลด


ด้านนางอัฐฌาวรรณ พันธุ์มี ชาวบ้านกุดคูณ 2 เทศบาลนครอุบลราชธานี เสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ทำได้รวดเร็ว คือ ควรหาพื้นที่ทำแก้มลิงใช้รองรับปริมาณน้ำที่ไหลท่วมแทนที่จะมีแต่สิ่งก่อสร้าง ทั้งสะพาน ห้างสรรพสินค้าที่ทำลายพื้นที่รองรับน้ำตามธรรมชาติ เพื่อใช้แก้ปัญหาให้ชุมชนที่ต้องถูกน้ำท่วมซ้ำซากด้วย

ขณะที่นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงการรับมือน้ำท่วมในอนาคต โดยปี 2566 กรมชลประทานมีโครงการทำแก้มลิงเฉลิมพระเกียรติรัฐกาลที่ ๑๐ มาตามลุ่มน้ำชีจำนวน 72 แห่ง เพื่อเก็บน้ำหน้าแล้งและรองรับน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนโครงการแก้ปัญหาระยะยาว จะทำทางเบี่ยงน้ำจากแม่น้ำมูลออกไปราว 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดปริมาณน้ำแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านลำน้ำของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งรองรับน้ำได้สูงสุด 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ปีไหนที่ภาคอีสานต้องเจอกับพายุพร้อมๆ กันหลายลูก ทำให้มีน้ำมาก ก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นอีก แต่ก็ท่วมไม่มาก


หลังการเสวนาภาคประชาชนและชุมชน จะนำเสนอความเห็นที่ได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาที่เกิดจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2565 ให้รัฐบาลรับทราบ แล้วนำไปใช้ช่วยเหลือประชาชนที่ต้องประสบอุทกภัยในครั้งอื่นๆ และป้องกันน้ำท่วมไม่ให้สร้างความเสียหายอย่างมากเหมือนปีนี้

สำหรับแม่น้ำมูลจังหวัดอุบลราชธานีมีระดับน้ำของตลิ่งฝั่งอำเภอวารินชำราบสูง 7 เมตร และของตลิ่งอำเภอเมืองสูง 8 เมตร ที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมสูงสุดในเดือนตุลาคม ปี 2521 น้ำมีความสูง 12.76 เมตร รองลงมาเป็นเดือนตุลาคม ปี 2493 ที่ความสูง 11.56 เมตร ต่อมาคือเดือนตุลาคม ปี 2565 มีน้ำสูง 11.51 เมตร และเดือนกันยายน ปี 2562 น้ำสูง 10.97 เมตร ส่วนปีอื่นๆ ที่เกิดน้ำท่วม ระดับน้ำท่วมมีความสูงไม่ถึง 11 เมตร


ขณะที่ความสูงระดับน้ำที่ไหลท่วมของแม่น้ำมูล ยังมีส่วนเกี่ยวพันความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่สูญเสียไปจากการขยายตัวของชุมชนเมือง และน้ำท่วมปี 2565 หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานีคาดจังหวัดได้รับความเสียหายกว่า 6,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น