xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นไทยเสียดินแดน! น้ำโขงเปลี่ยน-เซาะเกาะช้างตายห่างแผ่นดิน คนลาวฝรั่งเศสแห่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - เครือข่ายภาคประชาชนเปิดเวทีถกผลกระทบการพัฒนาน้ำโขง..พบกระแสน้ำเปลี่ยน-เกาะช้างตายเนื้อที่กว่า 70 ไร่ที่เคยเป็นของไทย 100% ใช้เป็นสถานที่จัดงานประเพณีท้องถิ่นหลายครั้ง เกิดห่างแผ่นดิน ถูกคนลาวอ้างสนธิสัญญาฝรั่งเศส แห่ขึ้นเกาะปลูกพืชผัก-เลี้ยงสัตว์


น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ พร้อมเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้ร่วมกันเปิดเวทีหารือ-นำคณะดูงานริมฝั่งแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ระหว่าง 3-4 ต.ค. 65 กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนปากแบง ตั้งอยู่เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ 96 กิโลเมตร

กิจกรรมมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนสำรวจพื้นที่บริเวณแก่งผาได อ.เวียงแก่น และจัดประชุมหารือ ณ ห้องประชุมเทศบาล ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น ว่าจะส่งผลกระทบ

วันเดียวกัน คณะไปศึกษาที่เกาะช้างตาย ใกล้ท่าเรือแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน เพื่อดูตัวอย่างความเสี่ยงในการเสียดินแดนที่เกิดจากการขุดลอกทำให้เกาะช้างตายจากเดิมที่เชื่อมติดกับประเทศไทยกลายเป็นเกาะ ทำให้ชาวบ้านที่เคยใช้ประโยชน์จากเกาะ 70 กว่าไร่ ไม่สามารถใช้ประโยชน์-ปลูกพืชผักได้ แต่กลับมีคนลาวนำสัตว์มาเลี้ยงและเพาะปลูกบนเกาะแทนคนไทยไปแล้ว โดยอ้างเรื่องการปักปันเขตแดนตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส, การครอบครองเกาะทุกแห่งในแม่น้ำโขง

นายกฤษฎา ทิวาคำ รองนายกเทศมนตรี ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน กล่าวว่า ที่ผ่านมาท้องถิ่นและชาวบ้านอยากพัฒนาเกาะช้างตายเป็นแหล่งท่องเที่ยว-ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ แต่หลังจากเคยข้ามไปมาได้ตามปกติ ปรากฏว่าเมื่อเร็วๆ นี้ก็เกิดความไม่ชัดเจนขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไข เพราะในระดับท้องถิ่นหากจะอ้างเรื่องเกาะช้างตายก็มักมีคนอ้างเรื่องสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส เรื่องการแบ่งดินแดนมาตอบโต้

นายสมยศ จันทรังสี ชาวบ้านเกาะผาคำและอดีตสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ต.บ้านแซว กล่าวว่า ในอดีตชาวบ้านสามารถเดินข้ามไปยังเกาะช้างตายได้เพราะติดกับแผ่นดินไทย แต่เมื่อแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงคาดว่าเกิดจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีน ทำให้ดินพังทลายกลายเป็นเกาะ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็พบว่ามีคนลาวเอาสัตว์มาเลี้ยงแทนแล้ว พอไปแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็กล้วจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีก จึงไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน

ด้านพระอธิการอภิชาต รติโก เจ้าอาวาสวัดสบกก กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงเห็นได้อย่างชัดเจนเรื่องน้ำขึ้นและน้ำลงที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อก่อนมีชาวประมงอยู่เยอะ แต่ปัจจุบันเหลือน้อยมากเพราะปลาเหลือน้อย ส่วนเกาะช้างตายนั้นในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์ แต่วันนี้ชาวบ้านเดินข้ามไปไม่ได้และไม่ชัดเจนว่าเป็นของประเทศไทยหรือลาว ทั้งๆ ที่ในอดีตชาวเชียงแสนเคยเข้าไปจัดกิจกรรมประเพณีต่างๆ บนเกาะด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น