xs
xsm
sm
md
lg

ลุ่มน้ำโขงส่อคึกคักเต็มพิกัด! จีนชงพม่าหวนเปิด “ท่าเรือสบหรวย” เชื่อมกวนเหล่ย ฟื้นการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย/สามเหลี่ยมทองคำ - ลุ่มน้ำโขงตอนบนใกล้กลับมาคึกคักเต็มพิกัด..จีนส่งหนังสือแจ้งเมียนมาชวนเปิดท่าเรือสบหรวย เชื่อมเมืองท่ากวนเหล่ย ฟื้นการค้าผ่านสามเหลี่ยมทองคำที่เคยมีมูลค่าสูงปีละหลายหมื่นล้าน


ความคืบหน้ากรณีมณฑลยูนนาน สป.จีน เปิดไฟเขียวให้ทางการท้องถิ่นเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาเปิดท่าเรือกวนเหล่ย เมืองท่าหน้าด่านที่สำคัญต่อการค้าลุ่มน้ำโขงตอนบน หรือย่านสามเหลี่ยมทองคำ อีกครั้ง หลังสั่งปิดสกัดโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปี 63 เป็นต้นมานั้น

ล่าสุดหอการค้าจังหวัดเชียงรายแจ้งว่าสำนักกิจการต่างประเทศ เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สป.จีน ได้มีหนังสือถึงสำนักประสานงานเขตปกครองพิเศษที่ 4 รัฐฉานตะวันออก เมียนมา แจ้งว่าหลังทางการจีนปิดท่าเรือกวนเหล่ย งดให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขงอย่างหนัก

ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาการใช้ประโยชน์ในแม่น้ำโขง ทางการจีนจึงได้ปรับวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน กลับมาเปิดท่าเรือกวนเหล่ยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง พร้อมให้บริการทั้งด้านพิธีการทางศุลกากรและการขนส่งสินค้าแล้ว

น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่าเขตปกครองพิเศษที่ 4 ของเมียนมา นอกจากจะมีเมืองลา หัวเมืองพรมแดนพม่า-จีน ตามแนวเส้นทางอาร์ 3 บี ยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือสบหรวย ซึ่งเป็นเมืองท่าในแม่น้ำโขงที่สำคัญของเมียนมา และเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างไทย-เมียนมา-จีน

ที่ผ่านมาท่าเรือสบหรวยก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เช่นกัน เมื่อท่าเรือกวนเหล่ยของจีนปิดทำการ ท่าเรือสบหรวยก็ปิดตามไปด้วย ดังนั้นการที่ท่าเรือกวนเหล่ยกลับมาเปิดและชักชวนให้ท่าเรือสบหรวยเปิดตาม จึงเป็นเรื่องที่ดีอย่างมากเพราะหากเปิดพร้อมกันก็จะทำให้การค้าทางเรือในแม่น้ำโขงกลับมาคึกคักอีกครั้ง


น.ส.ผกายมาศกล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ทางการจีนปิดท่าเรือกวนเหล่ยซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนในแม่น้ำโขง ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนทางเรือแม่น้ำโขงสูญหายไปปีละหลายหมื่นล้านบาท และหากรวมกันประมาณ 3 ปีอาจสูญเสียไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท

ดังนั้นจึงขอชักชวนผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ที่ทำการค้าชายแดนไทยระหว่างไทย-จีน กลับมาขนส่งสินค้าทางเรือแม่น้ำโขงเพื่อลดต้นทุนระหว่างไทย-จีน เพราะขนสินค้าได้ครั้งละ 200-300 ตัน มากกว่าทางบก

อย่างไรก็ตามการเปิดท่าเรือกวนเหล่ยครั้งใหม่นี้ ทางการจีนยังอนุญาตให้เฉพาะการขนส่งสินค้าเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้คนเรือขึ้นฝั่ง ผู้ประกอบการที่จะขนส่งสินค้าเข้า สป.จีน ผ่านท่าเรือฯ ต้องแจ้งรายละเอียด เช่น ชนิดสินค้า จำนวนคนบนเรือ ฯลฯ แต่ตนเชื่อว่าช่วงแรกในรอบสัปดาห์นี้จะมีเพียงการติดต่อด้านธุรกิจกันและหลังจากนั้นการขนส่งทางเรือจึงค่อยคึกคักตามมา โดยเฉพาะสินค้าประเภทเนือแช่แข็งที่เคยส่งออกไปเป็นจำนวนมาก แต่ก็ต้องหยุดชะงักเมื่อมีการปิดท่าเรือกวนเหล่ยที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงแสนเคยมีมูลค่ารวมปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกประมาณ 15,000-18,000 ล้านบาท แต่ในปี 2564 การส่งออกลดลงเหลือ 7,553,299,007 บาท นำเข้า 331,427,541 บาท และปี 2565 (ถึงเดือน เม.ย.) มีการส่งออก 3,995,033,278 บาท นำเข้า 271,374,360 บาท

สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์ บุกอบแห้ง สุกรมีชีวิต ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นเมล็ดดอกทานตะวัน กระเทียมอบแห้ง กระเทียมสด ชิ้นส่วนกระบือแช่แข็ง ฯลฯ ขณะที่การขนส่งสินค้าระหว่าง อ.เชียงแสน ไปยังท่าเรือกวนเหล่ย มีระยะทางประมาณ 265 กิโลกรัม และเชียงแสน-สบหรวย ระยะทางประมาณ 195 กิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น