เชียงราย - อพท.ชวนเที่ยว “บ้านฮอมผญ๋า” วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน สัมผัสทริปทัวร์ยึดโยงทางประวัติศาสตร์เชื่อมร้อยให้ตามรอยเรื่องเล่า เที่ยวสายมูเตลู ดูวิถีอัตลักษณ์เวียงเก่า
นางสาวมยุรี ศรีสุริยพงศ์ เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ อพท. 6 ได้จัดกิจกรรมทดลองท่องเที่ยวโดยชุมชน (product testing) นำผู้ประกอบการและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวร่วมทดลองเส้นทางและกิจกรรมนำเที่ยวกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
ซึ่งพบศักยภาพของนักสื่อความหมายชุมชน ที่นำความน่าสนใจของเมืองเชียงแสน ทั้งต้นทุนและศักยภาพของพื้นที่โบราณสถาน มีเรื่องราวอ้างอิงและยึดโยงทางประวัติศาสตร์มาเชื่อมร้อยบอกเล่าเป็นเรื่องราว ทำให้ได้เห็นร่องรอยผ่านซากปรักหักพัง ยิ่งสร้างความขลังน่าเคารพสักการะ รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะสร้างความสนุกสนานให้แก่นักท่องเที่ยวได้
นอกจากนี้ ชุมชนยังออกแบบกิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวมีความเหมาะสมและหลากหลาย ทำให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกและอยากกลับมาทำกิจกรรมเพิ่ม ที่สำคัญคือการบริหารจัดการของกลุ่มฯ ที่มีการพัฒนาเพื่อนสมาชิก เกิดการแบ่งปันและกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดความยั่งยืน
โดยกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน..เริ่มต้นด้วยบรรยากาศสบายๆ ใต้ร่มไม้ลานหน้าบ้าน “ฮอมผญ๋า” ซึ่งมีความหมายว่า..บ้านที่รวมภูมิปัญญา เลขที่ 117 หมู่ที่ 3 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
วัฒน์-นายยศภัทร ยกยิ่ง และหวาน นางมัชฌิมา ยกยิ่ง ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของบ้าน เป็นครูภูมิปัญญา และเป็นนักสื่อความหมายชุมชน ได้ช่วยกันเล่าเรื่องเมืองเชียงแสน อย่างได้อรรถรส ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการ-ตัวแทนหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว ฟังอย่างเพลิดเพลินสนใจ
โดยเฉพาะศาสตร์วิชาโบราณ “ทักษาโหราปูจาพระธาตุ” ที่ถูกพัฒนาเป็นกิจกรรมเล่าตำนานดูทักษาเมืองเชียงแสน และการดูทักษาดวงชะตา การทำนายทายทักด้วยศาสตร์วิชาชั้นครูโบราณ
รวมทั้งการนำประเพณีการล่องสะเปามาทำกิจกรรม “สะเปาคำนำสุข” ให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำเองจากต้นกล้วยให้มีลักษณะเป็นเรือสำเภา ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้หลากสีสัน ได้ทดลองทำขนม “ไข่ปลาบึก” ที่คล้ายสาคูไส้หมู แต่ตั้งชื่อให้มีความผูกพันกับแม่น้ำโขง จัดใส่กระทงใบตองเป็นอาหารคาวหวาน วางผางประทีปและปักธูป แล้วนั่งรถรางชมเมือง นำสะเปาไปไหว้อธิษฐานที่วัดร้อยข้อ หรือวัดลอยเคราะห์ ที่มีประวัติสร้างขึ้นในสมัยพญากือนากษัตริย์พระองค์ที่ 6 ของราชวงศ์มังราย มีอายุราว 500 ปี
จากนั้นไปล่องเรือเพื่อลอยสะเปาในลำน้ำโขง อุทิศกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือให้กับเจ้ากรรมนายเวร หรือแม้แต่จะอุทิศให้กับตัวเองเพื่อภพหน้า ตามคติความเชื่อ
ซึ่งมีหลายคนที่บอกว่าหลังจากได้ลอยสะเปาคำนำสุขแล้ว บุคคลอันเป็นที่รักซึ่งได้ล่วงลับไปแล้วก็มาเข้าฝัน เสมือนมาบอกว่าได้รับรู้ถึงการระลึกถึงและการส่งบุญทานไปให้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในกิจกรรม “ล่องสะเปาคำนำสุข” นี้..สิ่งที่ชุมชนคิดคือ ผลต่อสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างในสะเปาต้องเป็นวัสดุธรรมชาติย่อยสลายได้ทั้งหมด ไม่เป็นมลภาวะในแม่น้ำโขงอย่างเด็ดขาด
ครูภูมิปัญญาทั้งคู่ยังได้บอกเล่าเรื่องราวของเมืองเชียงแสนด้วยความภูมิใจว่า เป็นเมืองที่มีความผูกพันกับแม่น้ำโขง ชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทั้งด้านประมงและการเกษตร เป็นแหล่งผลิตดอกเก๊กฮวยที่ดีที่สุดในประเทศไทย แหล่งผลิตข้าวเหนียวเขี้ยวงูเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพดี มีต้นสักเป็นไม้สัญลักษณ์เมือง มีสถานที่โบราณสถานและวัดมากถึง 76 แห่ง และสามเหลี่ยมทองคำพื้นที่พรมแดนระหว่างประเทศไทย ลาว และ พม่า
และด้วยศักยภาพที่เป็นเมืองเก่ามีเรื่องราวเรื่องเล่ามากมาย จึงได้ช่วยกันคิดกิจกรรมน่าสนใจที่หลากหลาย นอกจากกิจกรรมทักษาโหราปูจาพระธาตุเวียงเชียงแสนและจัดแต่งแป๋งดา การทำเครื่องเบญจสักการะของล้านนา เพื่อเป็นสิริมงคล กิจกรรมสะเปาคำนำสุข นั่งรถรางไปล่องเรือลอยสะเปาในแม่น้ำโขง
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสีสันใบสัก ฮอมฮักเชียงแสน ที่นำเรื่องราวใบสัก หรือต้นสัก ซึ่งเป็นไม้หมายเมืองของเชียงแสนและดอกไม้ใบไม้ตามธรรมชาติ มาทำงานฝีมือเวิร์กชอป ทั้งการตอกผ้าและการอุ๊กผ้า หรือบ่มด้วยความร้อน สร้างสรรค์เกิดลายผ้าที่สวยงามสร้างความสนุกสนานกับไอเดียของตัวเอง และกิจกรรมนุ่งซิ่นกินปิ่นโตอาหารสี่แผ่นดิน ที่นักท่องเที่ยวจะได้ทดลองทำและชิมอาหารไทย ลาว พม่า จีน ครบ
นายอภิชาต ติลกสกุลชัย หรืออาจารย์อุ้ย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน เล่าว่า เป็นการรวมตัวของคนที่รักเชียงแสน แม้ไม่ได้เป็นคนเชียงแสนโดยกำเนิด แต่ได้มาตั้งหลักปักฐานที่เชียงแสน แล้วเกิดความรักความภาคภูมิใจในความเป็นคนเชียงแสน จึงได้เริ่มคิดทำอะไรเพื่อเชียงแสน
โดยได้เริ่มต้นจากฐานข้อมูลงานวิจัย ค่อยๆ พัฒนาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ที่มาร่วมช่วยกันพัฒนาและออกแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกรวม 15 คน ร่วมดำเนินกิจกรรมภายใต้เป้าหมายของกลุ่มฯคือ การทำให้เมืองเชียงแสนเป็นที่รู้จัก นักท่องเที่ยวอยากมาสัมผัสความเป็นอัตลักษณ์เชียงแสน และทำให้คนเชียงแสนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ ทุกคนสามารถมีความรู้ ถ่ายทอดเรื่องราวเมืองเชียงแสนได้ ที่สำคัญคือให้ทุกคนมีรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชน และพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองเชียงแสนให้ยั่งยืน
สำหรับนักท่องเที่ยวสนใจไปเรียนรู้ตัวตนและอัตลักษณ์เมืองเชียงแสนกับกิจกรรมสนุกๆ ได้ความรู้และการทำนายจากศาสตร์วิชาโบราณ สามารถติดต่อทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ที่ “มัชฌิมา (พี่หวาน) 06-2809-5831 / อภิชาติ (อุ้ย) 08-6777-7409 หรือผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์รวมกิจกรรมท่องเที่ยวเชียงแสน”