บุรีรัมย์ - ผู้ปกครองของเด็กชายวัย 12 ปี ชาว อ.พุทไธสง คาใจหลังพาลูกเข้ารักษาที่โรงพยาบาล จนท.บอกว่ามีคนไข้พิเศษลัดคิว ทำให้ลูกชายรอคิวนานสุดท้ายไส้ติ่งแตกเสียชีวิต รพ.บุรีรัมย์แถลงยอมรับการรักษาล่าช้า แต่ยืนยันไม่มีคนไข้พิเศษลัดคิว ผู้ปกครองสามารถยื่นขอรับการเยียวยาตามสิทธิได้
วันนี้ (6 มิ.ย.) นายสมบูรณ์ กรมไธสง อายุ 42 ปี ชาว ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาร้องขอความเป็นธรรม หลังจาก ด.ช.กิตติศักดิ์ กรมไธสง หรือน้องต้นน้ำ อายุ 12 ปี ลูกชาย ซึ่งปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม.1 ได้เสียชีวิตจากอาการไส้ติ่งแตกและติดเชื้อ ขณะถูกส่งตัวไปผ่าตัดเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์
โดยนายสมบูรณ์ ผู้เป็นพ่อ เล่าว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ลูกชายมีอาการปวดท้อง จึงพาลูกชายไปที่โรงพยาบาลพุทไธสง เมื่อหมอตรวจดูอาการก็วินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่ง หมอจึงได้ส่งตัวลูกชายไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์
กระทั่งเวลาประมาณเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่เวรเปลได้เข็นลูกชายเข้าไปในห้องผ่าตัด โดยที่ตัวเองนั่งรออยู่ด้านนอก หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่เวรเปลคนดังกล่าวได้เข็นลูกชายออกมา ตัวเองรู้สึกแปลกใจจึงเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่เวรเปลว่าทำไมเข็นออกมาคืนยังไม่ได้ผ่า ก็ได้รับคำตอบว่า หมอมีคนไข้พิเศษ 2 คน โดยจะผ่าตัดคนไข้พิเศษก่อน และได้นำลูกชายกลับมารอ
จนต่อมาคืนวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 น้องได้เสียชีวิตโดยหมอระบุว่าไส้ติ่งแตกและติดเชื้อ ทำให้ตัวเองคาใจว่าลูกชายส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลถึง 2 วัน หมอกลับไม่เร่งผ่าตัดให้ จนทำให้ลูกชายต้องเสียชีวิตลง จึงอยากให้ทาง รพ.ออกมาชี้แจงและรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น
ล่าสุดวันนี้ (6 มิ.ย.) ที่ตึกเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 8 โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ นพ.รักเกียรติ ประสงค์ดี รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.บุรีรัมย์ ได้เป็นตัวแทนแถลงข่าวกรณี ด.ช.กิตติศักดิ์ หรือน้องต้นน้ำ อายุ 12 ปี เสียชีวิตหลังผ่าตัดไส้ติ่ง ทำให้ผู้ปกครองเด็กออกมาร้องเรียนผ่านสื่อว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยระบุว่า หมอปล่อยเวลาล่วงเลยนาน 2 วันหลังเข้าทำการรักษา แต่หมอไม่ยอมผ่าตัด ทั้งที่โรงพยาบาลต้นทางระบุชัดว่าไส้ติ่งอักเสบ
นพ.รักเกียรติกล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าน้องต้นน้ำมีอาการปวดท้องน้อยขวามาประมาณ 1 วัน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทไธสง หมอระบุเป็นไส้ติ่งอักเสบ แล้วส่งต่อมารักษาที่ รพ.บุรีรัมย์ แพทย์ทำการตรวจประเมินซ้ำวินิจฉัยว่าไส้ติ่งอักเสบเช่นเดียวกัน โดยได้เซตเวลาผ่าตัดไว้ที่ 17.00 น. วันที่ 29 พ.ค. ต่อมาพบว่าอาการของน้องเปลี่ยนแปลง มีหัวใจเต้นแรงมากขึ้น หมอได้เพิ่มน้ำเกลือ ประกอบกับผู้ป่วยมีความสูง 163 ซม. น้ำหนัก 83 กก. อยู่ในสภาวะน้ำหนักมาก
ผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด 23.30 น. แต่ในขณะนั้นห้องผ่าตัดซึ่งมี 3 ห้อง มีคนไข้รอผ่าตัดอยู่ทั้ง 3 ห้อง ห้องแรกผ่าตัดไส้เลื่อน และมีลำไส้เน่า แพทย์ต้องตัดต่อลำไส้ จากนั้นต้องผ่าตัดคนไข้ที่มารอก่อนหน้านี้ เป็นผู้ป่วยช่องท้องอักเสบอย่างรุนแรง ผู้ป่วยรายที่ 2 ผ่าตัดเสร็จประมาณตี 2 ของวันที่ 30 พ.ค. ส่วนห้องผ่าตัดอีกห้อง เป็นคนไข้อุบัติเหตุกระดูกโผล่มีแผลเปิด หมอต้องเร่งผ่าตัด มี 2 ราย อีกรายหนึ่งช่วงใกล้จะถึงเที่ยงคืน ซึ่งเป็นห้องผ่าตัดอีกห้อง ต้องผ่าตัดเด็กในครรภ์ มีสภาวะหัวใจเต้นเร็ว แต่การประสานงานของหมออาจไม่ตรงกัน ทำให้พนักงานเปลเข็นน้องต้นน้ำเข้าไปห้องผ่าตัด
จากการประเมินของหมอ ไม่ทราบได้ว่า การผ่าตัดเคสก่อนหน้านี้จะเสร็จสิ้นตอนไหน หรือจะใช้เวลานานแค่ไหน ไม่สามารถกำหนดเวลาได้ ถ้าจะให้เด็กรออยู่ในห้องผ่าตัดอาจจะไม่ปลอดภัย จึงแจ้งไปยังหอผู้ป่วยขอส่งตัวคนไข้คือน้องต้นน้ำกลับไปที่ห้องก่อน
ส่วนประเด็นที่ผู้ปกครองน้องติดใจว่า “มีเคสพิเศษ” แทรกคิวของน้องหรือไม่ จากการสอบสวนแล้วไม่มีเคสหรือกรณีพิเศษใดๆ ในโรงพยาบาล ทุกเคสสามารถที่จะมีหลักฐานประกอบและเป็นเคสที่มีความเร่งด่วน และมารับบริการก่อนหน้านี้
ต่อมาแพทย์พบว่าน้องมีอาการหายใจเร็วขึ้น และตรวจพบว่ามีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผลจากการผ่าตัดพบว่าพบไส้ติ่งแตก มีหนองอยู่โดยรอบประมาณ 100 ซีซี การผ่าตัดเสร็จเวลาประมาณ 14.00 น. ใช้เวลาในการผ่าตัด 45 นาที เนื่องจากสภาพก่อนผ่าตัดมีภาวะแย่ลง และมีการติดเชื้อในกระแสเลือดจึงส่งเข้ารักษาที่ห้องไอซียู และหัวใจน้องหยุดเต้นเมื่อเวลา 02.25 น. ของวันที่ 31 พ.ค.
ทั้งนี้ โรงพยาบาลต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องก่อนเป็นอันดับแรก และโรงพยาบาลยอมรับว่าเราที่รักษาล่าช้า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ทางคณะทีมรักษารวมถึงคณะการเยียวยา และการให้ข้อมูล การเยี่ยมบ้านคนไข้ ถือว่าล่าช้าไปมาก หลังจากนี้จะต้องไปขอขมาผู้ปกครองเด็กในเร็วๆ นี้ ส่วนการเยียวยาจะต้องเข้าไปสอบสวนในเชิงลึกว่าจะสามารถช่วยเหลือครอบครัวเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย จากการรับบริการทางสาธารณสุขได้มากน้อยแค่ไหน