กรมควบคุมโรค เผย หลังเปิดผับบาร์ สถานบันเทิง เกือบ 1 สัปปดาห์ ยังไม่พบแนวโน้มติดเชื้อโควิดจากสถานบันเทิงมากขึ้น ต้องติดตามอีก 1-2 สัปดาห์ ว่า กระทบผู้ติดเชื้อและอาการหนักหรือไม่ ส่วนภาพรวมผู้ติดเชื้อ อาการหนัก และเสียชีวิตยังลดลง
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้เราผ่านสถานการณ์โควิด-19 มา 3 ปี ทั่วโลกและไทยเหมือนกัน คือ ให้ความสำคัญที่จำนวนผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิต และผู้ที่มีภาระทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว หลายประเทศจึงเริ่มไม่รายงานผู้ติดเชื้อ ส่วนประเทศไทยยังรายงาน แต่มีการปรับโดยให้ความสำคัญกับตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้มีอาการหนัก ปอดอักเสบ และการรักษาใน รพ. เพราะคนป่วยส่วนใหญ่อาการไม่มาก ก็จะรักษาแบบคนไข้นอก สำหรับวันนี้ประเทศไทยรายงานผู้เสียชีวิต 27 ราย แนวโน้มเฉลี่ย 14 วันค่อยๆ ลดลง และจะลดต่อไปอีกระยะ อัตราการป่วยตายลดต่ำลงเหลือ 0.09% ส่วนผู้มีอาการหนักหรือปอดอักเสบรายงาน 761 คน ลดลงจากพันกว่าคนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจในช่วงโอมิครอนจากสูงสุดพบพันเศษๆ ก็ลดลงเหลือ 475 ราย
“ภาพรวมประเทศไทย สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก อาการรุนแรง และเสียชีวิต แนวโน้มลดลง สอดคล้องข้อบ่งชี้หลายอย่าง เช่น การรักษาใน รพ.ต้องการเตียงไอซียูหรือเตียงหนักประมาณ 10% ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้ เริ่มกลับไปบริการผู้ป่วยโรคอื่นๆ ตามปกติ” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่มีการเปิดกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หลายคนกังวลเกิดการระบาด หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องดำเนินมาตรการเข้มงวดหรือไม่ ตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือ แต่จากการติดตามสถานการณ์หลังการเปิดบริการยังไม่พบแนวโน้มผู้ติดเชื้อจากเหตุการณ์สถานบันเทิงมากขึ้น แต่ต้องติดตามสถานการณ์อีก 1-2 สัปดาห์ จะบอกได้อย่างชัดเจนว่า การเปิดสถานบันเทิงไม่มีผลกระทบมากนักต่อจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ที่มีอาการหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ศบค.รายงานผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 2,162 ราย สะสม 4,468,955 ราย หายป่วย 4,879 ราย สะสม 4,409,248 ราย เสียชีวิต 27 ราย สะสม 30,198 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 29,509 ราย อยู่ใน รพ.สนาม HI CI 15,676 ราย อยู่ใน รพ. 13,833 ราย อาการหนัก 761 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 375 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 10.8% ทั้งนี้ มีการติดเชื้อในเรือนจำ 1 ราย และเดินทางจากต่างประเทศ 2 ราย
ผู้เสียชีวิต 27 ราย มาจาก 17 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา 4 ราย, กทม. เชียงใหม่ จังหวัดละ 3 ราย, อุบลราชธานี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 2 ราย และ นนทบุรี สมุทรปราการ ศรีสะเกษ เชียงราย ลำปาง พะเยา สงขลา กาญจนบุรี อุทัยธานี ลพบุรี และนครนายก จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 13 ราย และหญิง 14 ราย อายุ 47-92 ปี อายุเฉลี่ย 79 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว 96%