เชียงใหม่ - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่วางมาตรการเข้มเฝ้าระวังป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) และเตรียมพร้อมเครือข่ายสถานพยาบาลในการรับมือ แม้เบื้องต้นยังไม่พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่และไม่มีเที่ยวบินตรงจากประเทศเสี่ยง
วันนี้ (31 พ.ค. 65) นายแพทย์ กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงการป้องกันและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การติดเชื้อโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า ในส่วนจังหวัดเชียงใหม่ แม้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง แต่ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อเฝ้าระวังในสถานพยาบาลทั้งเครือข่ายภาครัฐและเอกชนเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา และแม้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีเที่ยวบินตรงจากประเทศที่พบผู้ติดเชื้อ มีเพียงเที่ยวบินเปลี่ยนเครื่อง เช่น บินจากยุโรปมาเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ ก่อนจะเดินทางต่อมายังจังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ ได้มีการเฝ้าระวัง ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ โดยมีการตั้งจุดคัดกรองอุณหภูมิ อาการ ประวัติเสี่ยง พร้อมทั้งแจกบัตรคำแนะนำ (Health Beware Card) ให้ผู้เดินทางเฝ้าระวังอาการในขณะที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และหากมีอาการผิดปกติให้รายงาน และเข้ารับการตรวจที่ รพ.ทุกแห่ง พร้อมทั้งแสดงบัตร หรือแจ้งข้อมูลแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อตรวจประเมิน และรายงานต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเมื่อสงสัย เพื่อเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อไวรัสต่อไป
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) พบผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย มีประวัติเดินทางมาเปลี่ยนเครื่องในสนามบินในไทย 2 ชั่วโมง เพื่อเดินทางต่อไปประเทศออสเตรเลีย ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยง 12 ราย เป็นผู้โดยสารและลูกเรือในสายการบิน ซึ่งอยู่ในระหว่างการติดตามอาการ เบื้องต้นทั้ง 12 รายยังไม่มีอาการ
ส่วนผู้ป่วยเข้าข่ายอาการ 5 รายที่ได้รับรายงานมาก่อนหน้านี้ เป็นนักท่องเที่ยวชาวไอซ์แลนด์ 3 ราย เป็นพี่น้องกัน เดินทางเข้าไทยเพื่อมาเรียนมวยไทยที่ จ.ภูเก็ต เบื้องต้นพบว่าทั้ง 3 คนมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง คือมีตุ่มนูนใสตามลำตัว แต่เมื่อนำไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR จาก 2 ห้องปฏิบัติการ คือ ของกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิกโรงพยาบาลจุฬาฯ พบผลยืนยันว่าทั้ง 3 คนเป็นเพียงโรคเริมเท่านั้น
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ผู้ป่วยสงสัย คือ อาการมีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นตุ่มนูน บริเวณแขนขา และใบหน้า และมีประวัติเชื่อมโยงกับระบาดวิทยาภายในระยะเวลา 21 วัน เช่น เดินทางมาจากพื้นที่ที่พบการระบาด หรือกิจกรรมที่มีการรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิง และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่า หรือนำเข้าจากแอฟริกา
ขณะที่ผู้ที่เข้าข่ายสงสัยนั้น ต้องมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด คือ สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้าผู้ป่วย ผู้สัมผัสร่วมบ้าน เช่น อาศัยอยู่ในห้องเดียวกับผู้ป่วย หรือใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ผู้ป่วยฝีดาษลิง ภายในระยะ 2 เมตร โดยหากพบผู้ป่วยในประเทศไทยจะต้องได้รับการยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งเข้าสู่ระบบการรักษาตามอาการและแยกกักตัวจนพ้นระยะแพร่เชื้อ หรือยืนยันได้ว่าไม่ได้เป็นโรคดังกล่าว