xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมพัฒนาเตาเผาเชียงรายยุคเดียวกับสุโขทัย-เวียงกาหลง ขึ้นทะเบียนกว่าครึ่งศตวรรษ-วันนี้ยังร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - ศิลปากรนำนักโบราณคดีลงสำรวจ “เตาพานหรือเตาโป่งแดง” แหล่งเตาเผาเชียงรายอายุ 750 ปี ยุคเดียวกับสุโขทัยและเวียงกาหลง ก่อนวางผังพัฒนา เผยขึ้นทะเบียนโบราณสถานมานานกว่าครึ่งศตวรรษ วันนี้ยังรกร้าง


ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ นักโบราณคดีอิสระซึ่งเป็นอดีตข้าราชการกรมศิลปากร นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พร้อมด้วยนายธนัท อธิภัทรกุล รองปลัด อบต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ได้ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจแหล่งโบราณสถานเตาพานหรือเตาโป่งแดง เขตบ้านหนองผักจิก หมู่ 4 ต.ทรายขาว และศูนย์ทรายขาวศึกษา พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เตาพาน โรงเรียนท่าฮ่อ หมู่ 6 ต.ทรายขาว เพื่อเตรียมพัฒนาพื้นที่ต่อไป

จากการสำรวจพบว่าเตาโป่งแดง บริเวณเนินดินเขตบ้านหนองผักจิก มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ มีประวัติว่าเคยเป็นที่ตั้งของเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ทำภาชนะต่างๆ เช่น หม้อ ถ้วย ชาม ฯลฯ รวม 14 เตา ที่ผ่านมากรมศิลปากรเคยเข้าสำรวจและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไปแล้วตั้งแต่ปี 2504 หรือกว่า 61 ปีก่อน

ปัจจุบันมีสภาพพื้นที่เป็นทุ่งกว้างและเนินดินที่มีต้นไม้และหญ้าปกคลุมทั่ว รวมทั้งบางส่วนยังต้องสำรวจเพราะใกล้กับทุ่งนาของชาวบ้าน เหลือเตาเผาที่พบเห็นอยู่ 4 เตา เช่น เตาดอยสันป่าสัก เตาดอยสันธาตุ เตาบ้านจำปูน ฯลฯ ซึ่งเป็นเตายุคเดียวกับสมัยสุโขทัยและเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย แต่มีขนาดเล็กกว่า ในพื้นที่ยังมีการขุดพบเตา ถ้วย ชาม จาน คนโฑ ตะเกียง กาน้ำ ฯลฯ ซึ่งภาชนะเหล่านี้มักมีการเคลือบด้วยน้ำยาสีเขียวอ่อนใสทั้งด้านนอกและด้านในอย่างสวยงาม


ด้านนายสายกลางกล่าวว่า แนวทางการพัฒนาแหล่งโบราณสถานนี้ไม่ยาก เพราะมีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไปแล้ว การดำเนินการขั้นแรกคือแผ้วถางวัชพืชออกไปก่อนและสำรวจจุดที่ตั้งของโบราณสถานแต่ละแห่ง จากนั้นก็ขุดค้นและขุดแต่ง ก่อนที่จะพัฒนาพื้นที่ในภาพรวมหรือก่อสร้างอาคารสาธารณะต่างๆ เพื่อไม่ให้ทับจุดที่เป็นโบราณสถานดังกล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินการจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย ใช้เครื่องสแกน GPR (Ground Penetrating Radar, GPR) หรือเรดาร์เจาะพื้นเพื่อสะท้อนค่าสัญญาณจากใต้ดินกลับขึ้นมา ซึ่งจะทำให้ทราบโครงสร้าง จนสามารถทำแผนที่จุดต่างๆ เพื่อการวางแผนดำเนินการด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

นายธนัทกล่าวว่า จุดโบราณสถานเตาพานหรือเตาโป่งแดงนี้จะมีการพัฒนาเพื่อให้แหล่งเรียนรู้บนเส้นทางเชิงประวัติศาสตร์ที่เชื่อมต่อมาจากการสร้างอนุสาวรีย์พญามังรายหลวง ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างและตั้งอยู่ไม่ไกลจากเตาเผาแห่งนี้ในอนาคตด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น