xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” ผ้าลายต้นแบบจังหวัดนครปฐม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครปฐม - เปิดตัว “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” ผ้าลายต้นแบบจังหวัดนครปฐม ชมความวิจิตรของลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมนำข้อมูลประวัติศาสตร์อาณาจักรทวารวดี ถ่ายทอดสู่ศิลปะบนผืนผ้าด้วยช่างทอสุดยอดฝีมือในท้องถิ่น เผยพร้อมผลักดันร่วมกับจังหวัดนครปฐม ม.ราชภัฏนครปฐม สร้างแบรนด์สินค้าสินคุณภาพทำชุมชนเข้มแข็งในระยะยาว

ที่ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรม ภายในวัดโพรงมะเดื่อ ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม โดยกลุ่มทอผ้าศรีอุทุมพร ได้มีการจัดกิจกรรม เปิดตัว “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” ผ้าลายไทยลวดลายต้นแบบของจังหวัดนครปฐม โดยมีการจัดแสดงและสาธิตการทอลายและการย้อมพิมพ์ลายบนผืนผ้า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 โดยถือเป็นการจัดงาน Grand Opening เพื่อเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดย พ.ท.ดร.สินธพ แก้วพิจิตร (เสธ.แก้ว) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครปฐม พร้อมคณะเข้าร่วมชมการจัดแสดงและสาธิตอย่างละเอียด

โดยมีนายยุทธนา โพธิวิหค นายอำเภอเมืองนครปฐม นางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ผศ.ดร.ปิยวรรณ ปิ่นแก้ว ประธานหลักสูตร สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ อาจารย์เก่งกาจ ต้นทองคำ อาจารย์สาขาศิลปศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะอาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอแนวคิดในการผลิตผ้าที่มีลวดลายเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนครปฐม จากนั้นคณะได้เข้ากราบนมัสการพระครูปฐมธรรมรักษ์ เจ้าอาวาสวัดโพรงมะเดื่อ ที่ได้อนุเคราะห์จัดสถานที่ในการดำเนินการดังกล่าว


นายเก่งกาจ ต้นทองคำ อาจารย์สาขาศิลปศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เผยว่า หลังจากคณะทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้รับเรื่องการดำเนินการในการออกแบบลายผ้าที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของจังหวัดนครปฐม ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากหลายแห่ง โดยคำตอบที่เป็นต้นทาง คือ อาณาจักรทวารวดี ที่ตั้งของจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน เป็นดินแดนที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ โดยมีการขุดค้นพบเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องใช้โบราณมากมายบ่งบอกถึงความเจริญ มีความอุดมสมบูรณ์ในยุคนั้น

จากนั้นได้นำมากลั่นกรองออกแบบลวดลายซึ่งได้ลวดลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” และมาประยุกต์ร่วมกับผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา เพื่อเป็นผ้าต้นแบบของจังหวัดนครปฐม ซึ่งนี่คือครั้งแรกที่มีการสร้างลวดลายให้ลายผ้าของจังหวัดนครปฐม ซึ่งตอนนี้กลุ่มที่มีการทอผ้าในจังหวัดนครปฐมมีไม่กี่กลุ่ม และมีคนรุ่นใหม่มาสืบสานไว้น้อยมาก หากสามารถพัฒนาต่อยอดทำให้เกิดธุรกิจชุมชนได้จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้านในจังหวัดนครปฐมได้


ด้าน พ.ท.ดร.สินธพ แก้วพิจิตร (เสธ.แก้ว) ส.ส.นครปฐม เผยว่า หลังจากได้เข้าชมการจัดแสดงและสาธิตการทอผ้าลวดลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ลายหม้อน้ำ ซึ่งถือเป็นการสร้างสัญลักษณ์ของจังหวัดนครปฐมอีกทางหนึ่ง โดยสื่อสารผ่านทางจินตนาการจากประวัติศาสตร์ที่รุ่งเรืองอายุนับพันปี

ในพื้นที่ตำบลโพรงมะเดื่อ ยังมีกลุ่มชาวบ้านที่ยังคงอนุรักษ์การทอผ้าพื้นเมืองไว้อย่างเหนียวแน่น โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมได้เข้ามามีบทบาทกับชุมชนในการนำคณะอาจารย์ และนักศึกษามาสานต่อและต่อยอดขนมธรรมเนียมประเพณี และอนุรักษณ์ความเป็นพื้นถิ่นของตัวเองเอาไว้ ซึ่งจะมองเห็นว่า ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมได้มีการจัดให้มีนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และคนที่มีใจรักในงานศิลปหัตถกรรม มาร่วมกันแชร์แนวคิดจากหลักวิชาการสู่หลักการทำงานแบบพื้นบ้าน ซึ่งถือว่ามีคุณค่ามาก


“ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าพบกับหน่วยงานต่างๆ และหาข้อมูลในจังหวัดนครปฐมในทุกมิติ ซึ่งพื้นฐานของจังหวัดนครปฐมนั้นได้รับการขนานนามว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก และมีประวัติศาสตร์ในอารยธรรมทวารวดีที่ยิ่งใหญ่ การที่มีการคิดลายผ้าเพื่อนำมาต่อยอดสร้างเป็นเอกลักษณ์ใหม่เป็นสิ่งที่คิดว่าหากไม่หยุดการพัฒนาและได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ลวดลายผ้า “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” และผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา ไม่เพียงจะสร้างรายได้ แต่จะเป็นสร้างความสามัคคีและความเข้มแข็งของชุมชน ทำชื่อเสียงให้จังหวัดนครปฐมได้ด้วย”

ทั้งนี้ จังหวัดนครปฐมได้มีการจัดคณะกรรมการดำเนินงานค้นหาและพัฒนา “อัตลักษณ์ผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง ประจำจังหวัดนครปฐม” นำโดยนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้พิจารณาคัดเลือกลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” หมายถึง จังหวัดนครปฐมเป็นดินแดนอารยธรรมสมัยทวารวดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสภาพแวดล้อม พืชพรรณ ธัญญาหาร มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีองค์ประกอบลายหลัก คือ ลายหม้อน้ำปูรณฆฏะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลที่มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงการกำเนิดชีวิตที่มีความสมบูรณ์ มั่งคั่ง โดยลวดลายดังกล่าวปรากฏ อยู่บนเหรียญตราและประติมากรรมประดับบนโบราณวัตถุสมัยทวารวดี และมีลายประกอบ คือ กวางหมอบ อันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา


กำลังโหลดความคิดเห็น