กาฬสินธุ์ - กุ้งก้ามกรามเริ่มคึกคัก ใกล้เทศกาลไฮซีซันช่วงสงกรานต์เกษตรกรเตรียมสำรองกุ้งสดไว้ขายรายละกว่า 1-3 ตัน เลขาฯ สมาพันธุ์ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์เผยยอดขายไม่น้อยกว่า 80 ตัน เงินสะพัดกว่า 20 ล้านบาท หลายพื้นที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น
บรรยากาศการจับกุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของ จ.กาฬสินธุ์ และอาหารยอดฮิตในเทศกาลสงกรานต์ที่ จ.กาฬสินธุ์เริ่มต้นแล้วอย่างคึกคัก โดยพบว่าเริ่มมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อกุ้งก้ามกรามสดๆจากบ่อเที่ยวละ 100-200 กิโลกรัม พร้อมกับสั่งจองล่วงหน้านำไปส่งร้านอาหารและจุดรับซื้อในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงรายละหลายตัน หลังจากหลายพื้นที่ได้ผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น
นายอาทิตย์ ภูบุญเติม อายุ 52 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามบ้านตูม หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า บรรยากาศการจับกุ้งก้ามกรามจำหน่ายเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากหลายพื้นที่ได้ผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ก่อนหน้านี้ซบเซามาตั้งแต่หลังเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ตนได้สำรองกุ้งก้ามกราม ที่ได้ขนาดจับจำหน่ายเฉลี่ย 20-25 ตัว/กก. จำหน่ายในเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 2-3 ตัน โดยจะมีพ่อค้าจากต่างจังหวัดมาจองไว้ และนัดหมายมารับที่ปากบ่อเที่ยวละ 100-200 กก.
ราคาขายส่งที่ปากบ่อ กก.ละ 250 บาท ขณะที่พ่อค้าคนกลางจะบวกเพิ่มค่าขนส่งอีก กก.ละ 20-30 บาท ตามระยะทาง จากการสอบถามพ่อค้าคนกลาง สถานการณ์โควิดที่ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายในเทศกาลสงกรานต์ เพราะกุ้งก้ามกรามขึ้นชื่อว่าเป็นเมนูยอดฮิตในเทศกาลสงกรานต์ ปรุงอาหารได้หลายเมนู และเป็นของฝากอีกด้วย
ด้านนางสาวพัชราวลัย ไร่ไสว ผู้ประกอบการแม่ค้าคนกลางขายกุ้งสด กล่าวว่า เนื่องจากการค้ากุ้งก้ามกรามช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาคึกคักมาก โดยเฉลี่ยเกษตรกรแต่ละรายจับกุ้งจำหน่ายรายละ 300-500 กก. หรือกลุ่มละประมาณ 8 ตัน ในภาพรวมมีกุ้งสดออกสู่ตลาดทั่วภาคอีสานไม่น้อยกว่า 100 ตัน เงินสะพัดกว่า 25 ล้านบาท ทำให้ปริมาณกุ้งก้ามกรามที่จะออกสู่ตลาดช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดน้อยลงเนื่องจากกุ้งโตไม่ทัน
เกษตรกรต้องใช้เวลาเลี้ยงกุ้งแต่ละรุ่นประมาณ 5 เดือนถึงจะมีขนาดโตพอจับจำหน่าย กุ้งที่จับจำหน่ายในเทศกาลสงกรานต์ส่วนหนึ่งเป็นกุ้งที่เหลือขายช่วงปีใหม่ และส่วนหนึ่งเป็นกุ้งรุ่นใหม่ที่ยังไม่โตเต็มที่ คาดว่าในเทศกาลสงกรานต์นี้จะมีกุ้งก้ามกรามที่เกษตรกรสำรองไว้ และจะจำหน่ายออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 80 ตัน มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท
ขณะที่นายวีระชาติ ภูโปร่ง เลขาธิการสมาพันธ์ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันใน จ.กาฬสินธุ์มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามแปลงใหญ่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบัวบาน กลุ่มนาเชือก และกลุ่มลำคลอง นอกจากนี้ ยังมีผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามรายย่อยกระจายในพื้นที่ ต.บัวบาน ต.นาเชือก และ ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด, ต.ลำคลอง ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์, ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก และ ต.เสาเล้า อ.หนองกุงศรี รวมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งแปลงใหญ่และทั่วไปประมาณ 1,300 ราย
ปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งประสบคือต้นทุนการเลี้ยง คืออาหารกุ้งและพันธุ์ลูกกุ้งที่สูงขึ้น อยากเรียกร้องรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องควบคุมราคาด้วย นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคสำคัญคือสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนช่วงเดือนเมษายน ร้อนสลับกับฝนตก เป็นสาเหตุให้กุ้งน็อกตายเนื่องจากปรับตัวไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังมีกุ้งพร้อมจำหน่ายเพียงพอ และอาจจะขาดตลาดหลังสงกรานต์เนื่องจากกุ้งขายดีและโตไม่ทัน