xs
xsm
sm
md
lg

อากาศแปรปรวน กุ้งเลี้ยงเสี่ยงน็อกตาย ประมงกาฬสินธุ์แนะวิธีดูแลให้ได้จับขายช่วงสงกรานต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - อากาศแปรปรวน กลางวันร้อนจัดขณะกลางคืนอบอ้าว บางครั้งมีพายุฝน ส่งผลกระทบต่อกุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของเมืองน้ำดำ ปรับสภาพไม่ทันและเสี่ยงต่อการน็อกตาย ล่าสุดประมงจังหวัดยกทีมนักวิชาการลงพื้นที่ให้คำแนะนำป้องกันก่อนเกิดการน็อกตาย อดได้ขายช่วงเทศกาลสงกรานต์


นายคำพอง ภูนาสอน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เลี้ยงกุ้งก้ามกรามมาประมาณ 30 ปี พื้นที่เลี้ยง 14 บ่อ ช่วงหน้าร้อนเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย คือทั้งร้อนและมีฝนตกลงมา มีพายุฤดูร้อนพัดมาบ่อย เกิดปัญหากุ้งน็อกตายบ่อยครั้ง กุ้งปรับสภาพไม่ทัน สร้างความเสียหายอย่างมาก สำหรับปีนี้เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาเกิดการน็อกตายไปประมาณ 30 กิโลกรัม จำเป็นต้องขายเลหลัง กิโลกรัมละ 100 บาท ขณะที่ราคาขายกุ้งสดที่ปากบ่อกิโลกรัมละ 250 บาท

นอกจากนี้ ในช่วงเดียวกันยังพบว่ามีกุ้งของเพื่อนเกษตรกรอีกหลายรายได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดจากสภาพอากาศ ถึงแม้จะพยายามป้องกันและเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ก็ยังเกิดความเสียหายจนได้ ทั้งนี้ เนื่องจากกุ้งในฟาร์มหนาแน่นและเริ่มโต หวังจะจับขายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้




ด้านนายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้จะเห็นว่าสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวนบ่อย กลางวันร้อนจัดสลับกับมีฝนตกลงมา ขณะที่เวลากลางคืนอากาศปิด เกิดความอบอ้าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพกุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัด ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรแต่ละปีจำนวนมาก ปัจจุบันกำลังจะออกสู่ตลาดในเทศกาลสงกรานต์ ที่ปรับสภาพไม่ทันและเสี่ยงต่อการน็อกตายได้

จึงได้นำทีมนักวิชาการลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำด้านการบริหารจัดการ เช่น เปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นระยะป้องกันน้ำเสีย ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หากพบว่าอากาศเริ่มปิดให้ใช้เครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ในฤดูแล้งที่อากาศร้อน และเกิดแปรปรวนบ่อย ควรลดปริมาณการเลี้ยงให้น้อยลง หากกุ้งตัวโตให้ทยอยจับจำหน่ายเพื่อลดความหนาแน่น ซึ่งจะสามารถป้องกันและบรรเทาความเสียหายได้


อย่างไรก็ตาม ในกรณีกุ้งน็อกตายหรือได้รับความเสียหาย เป็นเรื่องที่เกษตรกรสามารถป้องกันและบรรเทาความเสียหายได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย จึงจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ

ดังนั้น เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหาย เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องบริหารจัดการในฟาร์มดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันความเสียหาย และจะได้มีกุ้งขาย สร้างรายได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น