ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครราชสีมาชูกลยุทธ์ปิงปองจราจรชีวิต 7 สีคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 หลังประสบความสำเร็จในการคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรังสำเร็จ โดยใช้ระดับสีของปิงปองบอกอาการของโรค ประชาชนเข้าใจและจดจำได้ง่าย แพทย์รักษาได้เร็ว
วันนี้ (22 มี.ค.) ดร.พรฤดี นิธิรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี (วพบ.) นครราชสีมา คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก เปิดเผยว่า วิทยาลัยฯ ได้นำโมเดลปิงปองจราจรชีวิต 7 สี มาใช้ในการคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ด้วยแนวคิดการแยกกลุ่มประชากรเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ คนปกติ คนเสี่ยง และคนป่วย และแบ่งระดับความรุนแรงของโรคเป็น 3 ระดับ ด้วยปิงปองจราจรชีวิต 7 สี
ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ยังคงมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี การมีระบบเฝ้าระวังโดยการคัดกรองจึงเป็นสิ่งจำเป็น และ อสม.เป็นกลุ่มคนที่จะ เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเจ้าหน้าที่คัดกรองสุขภาพ โดยการวัดความดัน ตรวจน้ำตาลเพื่อแยกว่าคนในชุมชนอยู่สีอะไร โดยหากพบอาการรุนแรงก็จะใช้ปิงปองสีเข้ม เช่น แดง และดำ การคัดกรองแบบนี้เพื่อง่ายต่อการติดตามดูแลและสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย และผู้ป่วยจะได้ดูแลตัวเองได้ง่าย เช่น เมื่อเราอยู่ในเกณฑ์ของสีเขียวเข้ม ก็ต้องทำให้มาอยู่สีเขียวอ่อนให้ได้ การคัดกรองช่วยให้คนไข้รู้หรือคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็รู้ และในแต่ละสีจะมีคำอธิบายรายละเอียดต่างๆ รวมถึงข้อปฏิบัติตนให้แก่คนไข้ด้วย โรคเรื้อรังสิ่งสำคัญคือการคัดกรอง หากคัดกรองได้เร็วก็รักษาได้เร็วขึ้น
ดร.พรฤดีกล่าวว่า ปิงปองจราจรชีวิต 7 สีนี้จะตอบโจทย์ได้ดีสำหรับคนไข้ที่ไม่ต้องไปจำตัวเลขหลายตัวให้ยุ่งยาก แค่บอกว่าตัวเองอยู่สีอะไร ที่สำคัญคือเหมาะสำหรับคนไข้สูงวัยได้ดีทีเดียว โดยกระบวนการคัดกรองคือ ผ่าน อสม.เป็นผู้คัดกรองผู้ป่วย โดย อสม.ทุกคนจะนำปิงปองจราจร 7 สีไปใช้ และแนะนำประชาชนในการคัดกรองตัวเองด้วยปิงปองจราจรชีวิต 7 สีเพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน
นอกจากนี้เรายังใช้ปิงปองจราจรชีวิต 7 สีในการคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย โดยใช้ปิงปองจราจรเพียง 7 สี เพื่อใช้คัดกรองกลุ่มคนว่าเป็นผู้ติดเชื้อระดับใดซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษา ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับการคัดกรองได้ทุกรูปแบบ การดำเนินการนั้น ทางวิทยาลัยฯ ร่วมกับ รพ.สต.ขนาย เป็นพื้นที่นำร่องในการใช้ปิงปองจราจร 7 สีคัดกรองผู้ป่วยในชุมชน โดยให้ อสม.เป็นเครือข่ายในการคัดกรองเนื่องจาก อสม.ใกล้ชิดกับประชาชน และสถาบันพระบรมราชชนก เชื่อว่า กลยุทธ์นี้จะทำให้คนดูแลสุขภาพมากขึ้น และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น รู้ข้อมูล แปลความหมายได้และดูแลตัวเองด้วย
ด้าน นางทัศนีย์ แตกโพธิ์ ประธาน อสม.หมู่ 5 บ้านบึงพญาปราบ ต.บ้านเกาะ อ.เมืองนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้นำปิงปองจราจรชีวิต 7 สีไปแนะนำให้ประชาชนในชุมชนได้เข้าใจเพื่อคัดกรองผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุการจดจำตัวเลขก็จะยุ่งยาก หากเราให้จำสีของปิงปองก็จะง่าย และสะดวกขึ้น อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยทุกคนจะมีสมุดจราจรชีวิต 7 สีประจำตัวไว้เมื่อไปพบแพทย์และแพทย์ทำเครื่องหมายใส่ปิงปองสีใดเราสามารถไปดูรายละเอียดต่างๆ ได้ และปฏิบัติตนตามคำแนะนำก็จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดี