xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสส้มโอไทยสดใส แนวโน้มผลิตไม่ทันขายหลังมะกันไฟเขียวนำเข้าทุกสายพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครปฐม - สมาคมส้มโอไทยเผยเกษตรกร ต้องเตรียมความพร้อมทางด้านวิชาการและเทคโนโลยี หลังสหรัฐฯ ปลดล็อกรับส้มโอไทยทุกสายพันธุ์ ยอมรับพื้นที่เกษตรนครชัยศรี แหล่งผลิตส้มโอไม่พอ ต้องขยายพื้นที่ในจังหวัดใหญ่ ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ เพื่อนำเงินเข้าประเทศได้อีกมหาศาล

วันนี้ (12 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานการเตรียมความพร้อมของเกษตรกร หลังจากกรมวิชาการเกษตร เผยกรณีสหรัฐฯ ไฟเขียวเปิดตลาดนำเข้าส้มโอไทยแบบไม่จำกัดพันธุ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยส้มโอต้องผ่านการฉายรังสี 400 เกรย์ แหล่งผลิตและโรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรอง พร้อมลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนส่งออก โดยมีสถิติตัวเลขการส่งออกในปี 64 มีมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท

นายธนกฤต ไทยทวี ผู้บริหารสวนส้มโอไทยทวี ในพื้นที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เผยว่า สำหรับข่าวดีในเรื่องดังกล่าวนับว่าเป็นข่าวดีของเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ ซึ่งที่สวนส้มโอไทยทวี นั้นได้ก่อตั้งโดย ดร.ทิม ไทยทวี บิดา นายกสมาคมส้มโอไทย ซึ่งตนเองได้สานต่องานโดยเปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการนำเคล็ดลับและเทคโนโลยีมาถ่ายทอดให้เกษตรกร และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างสร้างสรรค์ (Agritourism)

นอกจากนี้ ยังมีกิ่งพันธุ์ส้มโอสายดั้งเดิมจำหน่ายมานานกว่า 50 ปี โดยตอนนี้ได้มีการเพาะปลูกและจำหน่ายส้มโอ 5 สายพันธุ์หลักในพื้นที่คือ สายพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง สายพันธุ์ทองดี สายพันธุ์ขาวพวง สายพันธุ์ขาวแป้น สายพันธุ์ขาวหอม และยังมีการนำสายพันธุ์ทับทิม ที่นำมาจากภาคใต้ มาปลูกอีกด้วย ซึ่งเรื่องที่กรมวิชาการเกษตรได้มีการนำเสนอข้อมูลไปทำให้เกษตรกรมีความตื่นตัวมากเพราะเกิดวิกฤตกับส้มโอนครชัยศรีมาหลายครั้ง นี่เป็นโอกาสที่จะสร้างรายให้เกษตรกรและประเทศไม่น้อย

นายธนกฤติ กล่าวว่า เรื่องนี้อาจจะมีปัญหาซ่อนอยู่ นั่นคือการเจริญเติบโตของเมืองที่ทำให้พื้นที่ในเขตอำเภอนครชัยศรี มีพื้นที่ทางการเกษตรนั้นลดน้อยลง และไม่สามารถขยายเพิ่มขึ้นได้อีกแล้ว และคนรุ่นใหม่ได้ลดความสนใจในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ซึ่งเราเคยประสบปัญหาวิกฤตใหญ่ในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาเมื่อปี 54 ทำให้สวนส้มโอในเขตอำเภอนคชัยศรี สามพราน และพุทธมณฑล นั้นเกิดความเสียหายและเกือบจะสูญพันธุ์ไปครั้งหนึ่ง แต่มีการรวบรวมการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐและเกษตรกรเองในการอนุรักษ์สายพันธุ์เอาไวได้สำเร็จ และช่วงนั้นได้รับการชดเชยไร่ละ 3,000 บาท ทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากมาจนถึงขณะนี้

“เรื่องที่สหรัฐอเมริกาพร้อมรับส้มโอไทยทุกสายพันธุ์นั้นมองว่าเป็นข่าวดี จากที่ปัญหาส้มโอเคยราคาตกต่ำเหลือเพียงลูกละ 50 บาท มาจนถึงวันนี้ราคาลูกละ 100-150 บาท เป็นเครื่องยืนยันว่าส้มโอนั้นเป็นผลไม้ที่ดี ยิ่งส้มโอของจังหวัดนครปฐมนั้นสร้างชื่อไประดับโลก และถูกบรรจุเอาไว้ในคำขวัญประจำจังหวัด นี่คือสิ่งที่มีค่าของจังหวัดนครปฐม ที่จะสร้างรายได้ อาชีพได้อีกในอนาคต”

นายธนกฤติ กล่าวอีกว่า ตอนนี้การเตรียมตัวของเกษตรกรคือเรื่องสำคัญ เพราะเราทำเรื่องนี้กันมาตั้งแต่ปี 2549 ถึงวันนี้ 15 ปีแล้ว แต่ผู้ส่งออกจะต้องมีการปรับตัวหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของล้งรับซื้อ การเตรียมโรงบรรจุ และต้องมีการผ่านมาตรฐาน GMP รวมถึงการไปขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร และที่สำคัญคือ การต้องฉายรังสีมากกว่า 400 เกรย์ เพราะต้องมีการกำจัดเรื่องของแมลงวันผลไม้ ซึ่งโอกาสในพื้นที่จังหวัดนครปฐมนั้นแทบจะเต็มแล้ว แต่ต้องไปขยายกับจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และให้ความรู้ที่ชัดเจน ซึ่งเรามีตลาดต่างประเทศที่หลากหลายอยู่แล้วทั้งจีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และยังมีญี่ปุ่นที่มีการนำเข้าสายพันธุ์ทองดี แต่ต้องมีการอบไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อแมลงวันผลไม้เช่นกัน และวันนี้รับว่าการผลิตไม่น่าจะพอ

สิ่งที่หน่วยงานรัฐจะต้องเข้ามาช่วยคือ การรณรงค์ส่งเสริมในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดการตื่นตัวเพราะปลูกครั้งหนึ่งได้ 40 ปี อย่างน้อยก็ 25 ปี และต้องทำให้ผิวสวย เนื้อดี รสชาตดี รับรองส่งออกไม่ทันเพราะในประเทศมีความต้องการบริโภคกันมาก โดยมีการรอรับกันหน้าสวนตั้งแต่แรกแล้ว

นายธนกฤติ กล่าวอีกว่า ส้มโอมีคุณภาพดีคือเมื่อสุกแล้วสามารถทิ้งไว้คาต้นได้นาน และเมื่อตัดออกมาแล้วยังเก็บได้อีกนาน ทำให้เรื่องการกลัวว่าจะเกิดการเน่าเสียมีน้อย ซึ่งหากเกษตรและผู้ส่งออกมีการจับมือกันและมีหน่วยงานรัฐมาช่วยสนับสนุนจะมีทิศทางที่ดี ซึ่งในจังหวัดนครปฐม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม ได้มีการหารือและทำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยรวมถือว่าโอกาสดีแต่ติดตรงที่จะผลิตไม่ทันส่งออก นี่คือเรื่องดีที่คิดว่าจะเกิดกับเกษตรผู้ปลูกส้มโอในประเทศ

ขณะที่ นายศิริชัย เลี้ยงอำนวย เกษตรจังหวัดนครปฐม ให้ข้อมูลว่า จังหวัดนครปฐม มีเนื้อที่ทางการเกษตรที่เกี่ยวกับการปลูกส้มโอ โดยมีเกษตรกร จำนวน 1,730 ครัวเรือน พื้นเก็บเกี่ยวผลการผลิต จำนวน 7,122.67 ไร่ เนื้อที่ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต 4,258.50 ไร่ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ 14,727,071.00 กิโลกรัม ซึ่งอำเภอสามพรานเป็นพื้นที่ผลิตอันดับ 1 ตามด้วยอำเภอนครชัยศรี

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามได้ที่ นายธนกฤติ ไทยทวี โทร.08-3626-5499 Line:tanakitthaithawee เฟซบุ๊กสวมส้มโอไทยทวี อีเมล tanakit220317@gmail.com










กำลังโหลดความคิดเห็น