ชัยนาท - ชาวสวนส้มโอชัยนาท พร้อมส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ แต่ยังหวั่นในเงื่อนไข หวังภาครัฐช่วยสนับสนุนด้านความรู้ เพื่อให้ได้ผลผลิตตรงตามเงื่อนไข
หลังจากที่สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำเข้าส้มโอผลสดไม่จำกัดพันธุ์จากประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขการนำเข้าที่กำหนดแล้ว หลังจากที่รัฐบาลไทยได้เสนอขอเปิดตลาดส้มโอ พร้อมกับผลไม้อีกหลายชนิดมาเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี 2549 ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดนั้น นายอำนวย คุ้มชนะ เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอขาวแตงกวาจังหวัดชัยนาท ซึ่งมีพื้นที่ปลูกส้มโอขาวแตงกวามากกว่า 60 ไร่ อยู่ในพื้นที่ตำบลนางลือ อำเมืองชัยนาท เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจและถือเป็นข่าวดีอย่างมากที่จะทำให้ส้มโอมีตลาดส่งออกกว้างขึ้น จากเดิมที่ส่งไปได้แค่ประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่โดยส่วนตัวแล้วคงต้องมีการปรับตัวอย่างมาก
เพื่อให้ส้มโอมีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ที่ทางสหรัฐอเมริกากำหนด เพราะสหรัฐอเมริกาคงจะมีเงื่อนไขมาตรฐานที่แตกต่างและเข้มงวดกว่าการส่งส้มโอไปประเทศจีน ซึ่งนอกจากส้มโอต้องมีผิวพรรณดีและยังต้องดูเรื่องสารตกค้างที่เกษตรกรชาวสวนใช้ป้องกันโรคและศัตรูของส้มโอ ถึงจะทำให้ส้มโอมีผิวพรรณสวย และคงต้องปรับตัวในการใช้สารเคมีเหล่านี้ และเราต้องระวังสารเคมีที่สหรัฐฯ ห้ามใช้ ซึ่งเรื่องนี้คาดหวังว่าทางส่วนราชการ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตรจะสามารถให้ข้อมูลและแนะนำเกษตรกรชาวสวนส้มโอว่าควรจะใช้สารตัวใด และช่วยวางแผนการใช้สารป้องกันศัตรูพืชอย่างถูกวิธีให้ตรงตามมาตรฐานที่ทางสหรัฐฯ กำหนด
นายอำนวย เผยอีกว่า เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญมาก เกษตรกรชาวสวนส้มโอยังขาดความรู้ ทางภาครัฐต้องให้การสนับสนุนด้านความรู้แก่เกษตรกรมากกว่าเดิมที่ปล่อยให้เกษตรกรหาข้อมูลเองและลองผิดลองถูก ทำให้เสียโอกาส เพราะเมื่อตัดส้มโอส่งไปให้ตรวจแล้วจะถูกตีกลับมาเพราะสารตกค้าง ไม่สามารถส่งออกได้ เพราะไม่ตรงตามมาตรฐานที่ทางสหรัฐฯ ต้องการ หรือหากเป็นไปได้สามารถบอกชนิดสารเคมีที่ทางสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้ได้และรับรองจะเป็นการดีที่สุด ที่ผ่านมา แม้การส่งส้มโอไปประเทศจีนเคยประสบปัญหาคืนส้มโอกลับมาไม่ผ่านเกณฑ์เพราะผิวพรรณส้มไม่สวย เพราะห่วงว่าจะมีสารตกค้างจึงใช้เคมีห่างผิวส้ม จะถูกโรคแมลงรบกวนทำให้ผิวส้มไม่สวยแต่รสชาติยังอร่อย การทำให้ส้มโอมีผิวสวยพร้อมส่งออกจึงต้องเลือกสารเคมีใช้ให้เหมาะสมและกำหนดระยะเวลาที่จะตัดส้มให้พอเหมาะ
"ข้อเท็จจริงอีกอย่างคือส้มโอเป็นผลไม้เปลือกหนาแม้จะมีสารตกค้างที่เปลือกหลงเหลือบ้างจะไม่มีผลกระทบต่อรสชาติภายใน แต่ผิดหลักเกณฑ์ที่ไม่ควรจะมีสารตกค้างใดๆ โดยสรุปเกษตรกรชาวสวนส้มโอ พร้อมที่ปฏิบัติให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการส่งออก แต่ขอให้ภาครัฐให้ความรู้และข้อมูลมาส่งเสริมชาวสวนส้มโอให้สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่สหรัฐฯต้องการ"