xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์เตือน! กินไส้กรอกไม่ได้มาตรฐานอาจป่วย "เมทฮีโมโกลบิน" ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - นพ.สสจ.กาญจน์ เตือนกินไส้กรอกไม่ได้มาตรฐานอาจป่วย "เมทฮีโมโกลบิน" หลังพบเด็กหญิงวัย 5 ขวบ ชาว อ.สังขละบุรี ป่วยแต่หายแล้ว

วันนี้ (4 ก.พ.) นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับแจ้งจากกลุ่มงานระบาดวิทยา โรงพยาบาลสังขละบุรี ว่า มีผู้ป่วยภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย จำนวน 1 ราย จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นเด็กหญิง อายุ 5 ขวบ อาศัยอยู่หมู่ที่ 6 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

มีไทม์ไลน์ ดังนี้ วันที่ 20 ม.ค.65 มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสังขละบุรี ก่อนมาโรงพยาบาลเป็นเวลา 1.30 ชั่วโมง เล่นโทรศัพท์พร้อมรับประทานไส้กรอก จำนวน 4 ชิ้น ซื้อมาจากร้านขายแผงลอยที่หมู่ 6 บ้านห้วยมาลัย ร้านนี้จะมาตั้งแผงขายทุกวันพฤหัสบดีในตลาดอำเภอสังขละบุรี ส่วนในวันอื่นๆ จะขายที่ตลาดนัดอำเภอทองผาภูมิ และขายบริเวณหน้าบ้าน อำเภอไทรโยค สินค้าในร้าน มีผักสด ลูกชิ้น ไส้กรอก อาหารทะเล ที่ไปรับซื้อมาจากตลาดมหาชัย จ.สมุทรสาคร ทั้งหมด

หลังจากนั้น มีอาการเป็นลมหน้าคว่ำ รู้สึกตัว ไม่สลบ อาเจียน 1 ครั้ง ไม่มีไข้ ญาตินำมาส่งโรงพยาบาล เด็กกินไส้กรอก ไม่เคยซื้อยี่ห้อนี้มาก่อน และญาติที่กินด้วยมีอาการคล้ายกับเวียนศีรษะและอาเจียน แพทย์วินิจฉัยสงสัยภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย แพทย์ส่งต่อรพ.พหลพลพยุหเสนา และแพทย์ได้ทำการรักษา เฝ้าดูอาการจนเด็กดังกล่าวหายปลอดภัย และกลับบ้านที่อำเภอสังขละบุรี แล้ว

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า มีรายงานข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระบุสัปดาห์ที่ผ่านมา พบมีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 2 ราย เพชรบุรี 1 ราย สระบุรี 1 ราย ตรัง 1 ราย และกาญจนบุรี 1 ราย

โดยทั้ง 6 รายมีประวัติกินไส้กรอกซึ่งไม่มียี่ห้อ ไม่มี อย. ไม่มีฉลากระบุที่มา หรือผู้ผลิต ซึ่งภาวะ Methemoglobin เป็นภาวะที่ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกออกซิไดช์ โดยสารออกซิแดนท์ต่างๆ กลายเป็น methemoglobin ทำให้สูญเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจน และสีของเม็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ในเด็กจะไวต่อสารออกซิแดนท์มากกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดอาการได้ชัดเจน ผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น มึนเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว ปาก ลิ้น นิ้วมือ หรืออวัยวะอื่นๆ มีสีเขียว หากรุนแรงจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้

ขอให้ประชาชนเลือกบริโภคไส้กรอกที่ผ่านมาตรฐาน บรรจุภัณฑ์มิดชิด เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม และแสดงฉลากครบถ้วน โดยฉลากต้องมีข้อมูลดังนี้ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร (เลข อย.) สถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุ น้ำหนักสุทธิ และส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนมั่นใจ รับประทานไส้กรอกที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรรับประทานไส้กรอกในปริมาณที่เหมาะสม ปรุงให้สุกก่อนรับประทาน และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อสุขภาพที่ดี และห่างไกลโรค” นายแพทย์ชาติชาย กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น