เชียงใหม่ - กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สสจ.เชียงใหม่ และหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร เขตสุขภาพที่ 1 พร้อมเทศบาลนครเชียงใหม่ ส่งทีมลงพื้นที่ตลาดเมืองใหม่ตรวจสอบเฝ้าระวังไส้กรอกไม่มียี่ห้อ ไม่มี อย.และฉลากระบุที่มา หลังพบเด็กกินเข้าไปแล้วล้มป่วยหลายราย เบื้องต้นไม่พบวางขาย ย้ำเตือนผู้บริโภคต้องระวัง
วันนี้ (29 ม.ค. 65) นางนฤมล ขันตีกุล เภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร เขตสุขภาพที่ 1 ศูนย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกองสาธารณสุขเทศบาลนครเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตลาดเมืองใหม่ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเฝ้าระวังไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อ ไม่มี อย. ไม่มีฉลากระบุที่มา โดยเก็บตัวอย่างและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ผู้จำหน่ายในพื้นที่ตลาดเมืองใหม่ เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการนำมาจำหน่าย ซึ่งเบื้องต้นผลการตรวจสอบไม่พบการจำหน่ายไส้กรอกดังกล่าว
โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้สืบเนื่องจากข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระบุสัปดาห์ที่ผ่านมาพบมีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว ปาก ลิ้น นิ้วมือ หรืออวัยวะอื่นๆ มีสีเขียว โดยปัจจุบันพบผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าว จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 2 ราย, เพชรบุรี 1 ราย, สระบุรี 1 ราย, ตรัง 1 ราย และกาญจนบุรี 1 ราย โดยทั้ง 6 รายมีประวัติกินไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อ ไม่มี อย. ไม่มีฉลากระบุที่มา หรือผู้ผลิต
ทั้งนี้ เภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ระบุว่า เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอาการดังกล่าว จึงขอแจ้งเตือนประชาชนโปรดระมัดระวังในการบริโภคไส้กรอก โดยมีวิธีดูง่ายๆ ดังนี้ 1. สีของไส้กรอกต้องเป็นสีตามธรรมชาติ ไม่แดงจนเกินไป 2. บรรจุภัณฑ์ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีการระบุชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร (เลข อย.) วันที่หมดอายุ รวมถึงสถานที่ผลิตที่ชัดเจน และ 3. ไส้กรอกเป็นอาหารที่ต้องอยู่ในความเย็น ดังนั้นเมื่อเลือกซื้ออาหารต้องอยู่ในตู้แช่หรือน้ำแข็งเพื่อรักษาอุณหภูมิ และหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารใดๆ ควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยด่วน