กาฬสินธุ์ - ชาวนาเมืองน้ำดำปรับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ถั่วฝักยาว ข้าวโพด หลังประสบปัญหาขายข้าวเปลือกขาดทุนยับ หวังขายผลผลิตได้ราคาสูงกว่าข้าวเปลือก คาดพื้นที่ทำนาปรังมีแนวโน้มหดหายไปไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนา จ.กาฬสินธุ์ ในเขตพื้นที่ใช้น้ำชลประทาน หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จสิ้น ในฤดูแล้งเพาะปลูกพืชประจำฤดู ทุกครั้งจะเพาะปลูกข้าวนาปรังเต็มพื้นที่ แต่หลังจากสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ซึ่งราคาต่ำสุดขายข้าวเปลือกได้กิโลกรัมละ 5 บาท ทำให้ชาวนาประสบปัญหาขาดทุนหนัก ซึ่งปีนี้ชาวนาปรับเปลี่ยนผืนนาข้าวมาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนข้าวนาปรังในสัดส่วนค่อนข้างมาก
นายสมบัติ ภูถาดลาย อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 76 หมู่ 10 บ้านโนนสามัคคี ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ฤดูแล้งทุกปีที่ผ่านมาตนจะทำนาปรัง แต่หลังจากราคาข้าวเปลือกนาปีที่ราคารับซื้อตกต่ำเพียงกิโลกรัมละ 5 บาท แต่ปุ๋ยเคมี ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าวปรับขึ้น ทำให้ชาวนาทุกคนประสบปัญหาขายข้าวขาดทุน จึงไม่เสี่ยงทำนาปรังอีก เพราะหากทำคงจะขาดทุน จึงหันมาปลูกข้าวโพดและถั่วฝักยาวแทน ขณะที่เพื่อนชาวนาหลายรายก็หันไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลัง หรือพืชตระกูลแตงอื่นๆ
สำหรับตลาดรองรับผลผลิต จะนำไปขายตามตลาดชุมชนและหมู่บ้าน คาดว่าจะได้กำไรแน่นอน ซึ่งการปลูกข้าวโพดและถั่วฝักยาวดูแลง่าย ไม่เปลืองปุ๋ยเคมี ไม่ต้องจ้างแรงงานหรือรถเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะราคาซื้อขายสูงกว่าข้าวเปลือกเสียอีก เช่น ข้าวโพด 3 ฝัก ราคา 20 บาท หรือถั่วฝักยาวกำละ 10 บาท การเปลี่ยนอาชีพจากทำนาปรังมาปลูกข้าวโพดและถั่วฝักยาวจึงมั่นใจว่าจะมีรายได้ดี มีกำไรกว่าทำนาปรังแน่นอน
จากการสำรวจพบว่าชาวนาได้ปรับเปลี่ยนหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนปลูกข้าว ทำให้พื้นที่นาปรังในเขตใช้น้ำชลประทานลำปาว เดิมในปี 2563 เคยมีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังฤดูแล้งกว่า 120,000 ไร่ ซึ่งในช่วงปลายปี 2564 และต้นฤดูปลูกพืชหน้าแล้ง พบว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมีแนวโน้มลดลงอย่างน้อย 5,000 ไร่