ลำปาง - สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวฯ ถอนเงินกฐินขบวนรถม้าหนึ่งเดียวในโลกส่งเข้าวัดดังลำปางแล้ว..หลังขอวัดเปิดบัญชีใหม่-ดูแลการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ แม้วัดมีบัญชีธนาคารอยู่แล้ว ก่อนเกิดการทวงเงินกฐินผ่านสื่อจนวิจารณ์กันทั่ว
พระอธิการชลฌาทิศ ชิตจิตโต เจ้าอาวาสวัดศรีรองเมือง ต.สบตุ๋ย อ.เมืองลำปาง ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวหลังจากเดินทางกลับจากธนาคารเมื่อเย็นวันที่ 23 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ว่าได้เดินทางไปธนาคารพร้อมกับไวยาวัจกรวัดตลอดช่วงบ่าย เพื่อติดตามเงินที่สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง เจ้าภาพทอดกฐินในปีนี้ นำเข้าเก็บไว้ในบัญชีธนาคารของสมาคมฯ
ก่อนหน้านั้น พระอธิการชลฌาทิศ บอกว่า บ่ายวันที่ 23 พ.ย.สมาคมฯ ได้ถอนเงินจากบัญชีของสมาคมฯ จำนวน 240,596.50 บาท ซึ่งเป็นยอดที่สมาคมฯ บอกว่าหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว และทางเจ้าอาวาสได้นำเข้าบัญชีของวัดแล้ว ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณทางสมาคมฯ ที่ยอมคืนเงินจากการทอดกฐินให้แก่วัดเพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ต่อไป และหากญาติโยมต้องการตรวจสอบการใช้เงินดังกล่าวสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ทุกเมื่อ
ส่วนกรณีที่ทางที่ปรึกษา สสนท.ลป. นายประเสริฐ เจียไพบูลย์ ได้กล่าวในการแถลงข่าวว่าต้องการให้เจ้าอาวาสขอโทษเพราะอาบัติแล้วนั้น เจ้าอาวาสบอกว่า..ไม่ขอโทษ เพราะอาตมาไม่ได้ทำอะไรผิด คนที่ควรขอโทษคือทางสมาคมฯ มากกว่าเพราะเป็นคนเอาเงินไป
และที่บอกว่าพระที่ถือเงินอาบัติ เจ้าอาวาสบอกว่า อาตมาไม่ได้จับเงิน เพียงแต่ให้ทางธนาคารเป็นผู้ดูแลให้เท่านั้นคงไม่อาบัติอะไร หากพระทุกรูปที่รับเงิน จับเงิน อาบัติ เชื่อว่าพระทั้งประเทศคงอาบัติหมดแล้ว ดังนั้นอาตมาจึงไม่จำเป็นต้องขอโทษเพราะอาตมาพูดความจริง เพราะสมาคมฯ เอาเงินไปเข้าบัญชีของสมาคมฯ จริง หากไม่มีการทวงก็คงไม่ได้ แต่วันนี้ทางวัดได้เงินแล้วก็ต้องขอบคุณ
เมื่อถามว่าเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ทางวัดจะยังรับกฐินอีกหรือไม่ พระอธิการชลฌาทิศบอกว่า มาทอดได้หากมีศรัทธาที่แท้จริง แต่ทางวัดจะมีคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งหมด และจะไม่มีปัญหาแบบนี้ สามารถติดต่อได้เลย โดยไม่ต้องคำนึงถึงยอดเงินจะหลักหมื่น หลักแสน หลักล้าน ไม่ถึงล้าน ได้หมด เพราะบทเรียนครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนราคาแพง สอนให้เรามีปัญญาเฉลียวฉลาดขึ้นจากที่ไม่ทันคน ก็ได้รู้ว่าจะให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นชุดๆ ในการดำเนินงาน อาตมาก็จะเป็นเพียงประธานคอยดูแล หากเห็นว่าสิ่งไหนไม่ถูกไม่ต้องก็จะบอกกล่าวให้ปรึกษาหารือกันก่อน ต่อไปก็จะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก
“อยากฝากบอกไปยังวัดที่ยังไม่เจอเหตุการณ์แบบนี้ก็ขอให้ดูอย่าให้มีเหตุการณ์แบบนี้ เอาไปเป็นตัวอย่างด้วย คือต้องตั้งคณะกรรมการวัดที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ คือเลือกคนที่ดีที่สุด ส่วนเรื่องนี้อาตมาก็บอกว่าคนที่เซล้มเราก็ไม่ควรไปทับถมเขา ให้โอกาสเขา เขาอาจจะผิดพลาดได้ สี่ขายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ฉะนั้นก็อย่าไปทับถมเขา ให้โอกาสเขา”
ทั้งนี้ สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ได้มีการจัดงานทอดกฐินเพื่อนำรายได้บูรณะซ่อมแซมวัดศรีรองเมือง โดยใช้ชื่องานว่า “นั่งขบวนรถม้าทอดกฐินหนึ่งเดียวในโลก” เมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้ผู้มาร่วมงานนั่งรถม้าจำนวนกว่า 50 คันแห่กฐินบอกบุญไปรอบเมืองก่อนจะถวาย และช่วงค่ำมีการจัดงานขันโตก การแสดงแสง สี
ต่อมาวันที่ 20 พ.ย. ทางคณะกรรมการสมาคมฯ ได้เข้ามาสรุปยอดเงินและแจ้งค่าใช้จ่ายแก่เจ้าอาวาสและไวยาวัจกรวัด โดยเบื้องต้นได้แจ้งยอดรายรับกฐินรวมกว่า 289,000 บาท และทางสมาคมฯ เป็นผู้นำเงินไปเก็บรักษา
วันที่ 22 พ.ย. เจ้าอาวาสออกมาร้องเรียนสื่อมวลชนว่าทางวัดไม่ได้รับเงินจากการทอดกฐินเนื่องจากสมาคมฯ นำเงินไปเข้าบัญชีสมาคมฯ และขอให้ทางวัดเปิดบัญชีใหม่เพื่อให้มีตัวแทนของสมาคมฯ เป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่สามารถเบิกจ่ายเงินได้ โดยอ้างว่าการทอดกฐินมีวัตถุประสงค์ แต่เจ้าอาวาสไม่ยินยอมเพราะต้องการให้นำเข้าบัญชีวัดที่มีอยู่แล้ว
ขณะนั้นเจ้าอาวาสวัดระบุว่า สุดท้ายเมื่อสมาคมฯ ขอเก็บรักษาเงินอาตมาก็ต้องให้ไป ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เงินจากการทอดกฐินเมื่อถวายแล้ว พระให้พรแล้วเงินก็ต้องเป็นของวัด แต่กลับเอาเงินวัดไป อาตมาต้องเอาคืน หากไม่คืนก็ต้องให้ทนายวัดดำเนินการแจ้งความ
จากนั้นได้มีการโทรศัพท์ติดต่อประสานงาน ซึ่งทางสมาคมฯ ได้เข้าพบสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลำปาง เจ้าอาวาสจึงได้ขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลำปางเชิญคณะกรรมการมาพูดคุยและตกลงกันที่วัด ซึ่งมีทนายความวัดอยู่ด้วย
เมื่อมาถึงได้มีการพูดคุยกัน โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ได้สอบถามข้อมูลทั้งฝ่ายวัด โดยเจ้าอาวาส ได้ยืนยันว่าทางวัดต้องการเงินกฐินคืนและยืนยันว่าขอให้นำเข้าบัญชีวัดเพียงอย่างเดียว ไม่เปิดบัญชีเพิ่ม และก่อนเกิดเรื่องอาตมาก็ไม่เคยอนุญาตให้นำเงินเข้าบัญชีสมาคมฯ
ด้านที่ปรึกษา สสนท.ลป.ได้บอกว่าในการพูดคุยกันวันที่ 20 พ.ย.ทางมาคมฯ ได้แจ้งว่าการทอดกฐินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ จึงต้องการให้ทางวัดเปิดบัญชีใหม่ ใช้ชื่อวัดโดยมีวัตถุประสงค์..แต่เจ้าอาวาสไม่ยอม ประกอบกับเจ้าอาวาสบอกว่าเก็บเงินไว้ 2 คืนแล้วกลัวคนจะมาทำร้ายจะต้องรีบดำเนินการกับเงิน ทางสมาคมฯ จึงหวังดีนำเงินมาเก็บไว้ให้ก่อนโดยได้นำเข้าบัญชีสมาคมฯ พร้อมขอให้ใช้บัญชีที่มีชื่อไวยาวัจกรร่วมด้วย และจะมีการออกแบบก่อสร้างห้องน้ำห้องส้วมเสนอให้หน่วยงานพิจารณา เมื่อทำเสร็จมีเงินเหลือก็จะนำเงินโอนให้วัดทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าอาวาสไม่ยินยอม ขอให้สมาคมฯ คืนเงินเข้าบัญชีวัด ทางสมาคมฯ ได้ขอเวลา 1 วันเพื่อเคลียร์ค่าใช้จ่าย และเมื่อเสร็จจะได้นำเงินที่เหลือคืนให้แก่ทางวัด โดยได้นำบัญชีมาโชว์ว่าเงินยังอยู่ครบ ขณะที่อุปนายกสมาคมฯ บอกว่า การที่สมาคมฯ นำเงินเข้าบัญชีสมาคมฯ ตนก็ไม่เห็นด้วย และได้สอบถามคณะกรรมการแล้วก็ทราบว่าสาเหตุที่นำเงินทอดกฐินเข้าบัญชีสมาคมฯ ก็เพราะเจ้าอาวาสกลัวและยินยอมให้นำเงินมาเก็บก่อน แต่ไม่ได้ให้นำเงินเข้าบัญชีสมาคมฯ แต่ด้วยความหวังดี ซึ่งเงินก็ยังอยู่ครบ และหากเคลียร์บัญชีค่าใช้จ่ายเรียบร้อยก็นำคืนวัด
ต่อมาทางสมาคมฯ ได้จัดแถลงข่าวว่ากิจกรรมดังกล่าวต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านรถม้า สาเหตุที่ทางสมาคมฯ เก็บเงินวัดเข้าบัญชีของสมาคมฯ เพราะหวังดี และอยากให้เงินที่ได้นำไปใช้ถูกวัตถุประสงค์ แต่ที่ทางวัดออกข่าวทำให้เสียชื่อเสียงมาก ทางตัวแทนสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ กล่าวว่า ทางฝ่ายวัดก็มีระเบียบเกี่ยวกับการจัดเก็บเงิน คือเงินเกินหนึ่งแสนบาทต้องนำเข้าบัญชีของวัดเท่านั้น ขณะที่ทางสมาคมฯ เองก็ต้องการเห็นเงินทำตามวัตถุประสงค์ ที่ปรึกษา สสนท.ลป.ก็บอกว่าการที่วัดออกข่าวแบบนี้ต้องให้เจ้าอาวาสขอโทษ
อย่างไรก็ตาม จากการแถลงข่าวทางสมาคมฯ ได้แจกแจงเพียงเอกสารรายรับรวม 321,234.50 บาท (ไม่มีรายละเอียดนามผู้บริจาค) รายจ่าย 80,638 บาท เช่น อาหารขันโตก 25,758 บาท, ค่ารถม้า 17,100 บาท, อัฐบริขาร+ต้นกฐิน+ไม้เสียบ 11,930 บาท เหลือเงิน 240,596.50 บาท
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวเป็นวงกว้าง โดยส่วนใหญ่ระบุว่าการทอดกฐินเงินที่ผู้ศรัทธานำมาทอดถวายแด่พระสงฆ์ก็ถือว่าพระสงฆ์รับแล้วไม่ว่าจะเป็นเงิน เครื่องอัฐบริขารทุกอย่างที่นำมาถวาย ทุกอย่างจึงเป็นของวัด ผู้ถวายก็ไม่สามรถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงินของวัดได้อีก ไม่ว่ากรณีใดๆเพราะทางวัดจะมีระเบียบการจัดการเรื่องเงินของวัดอยู่แล้ว
และตามประเพณีนิยมที่ถือปฏิบัติกันมาก็คือทุกอย่างที่จะนำมาถวายวัด ผู้ที่เป็นเจ้าภาพหรือศรัทธาจะเป็นผู้ตระเตรียมนำมาเองทั้งหมดโดยไม่รบกวนทางวัด ส่วนการที่จะขอหักค่าใช้จ่ายหรือขอเงินจากยอดกฐินซึ่งมีผู้บริจาคมาคืน ก็มีบ้าง แต่ต้องตกลงกับทางวัดและคณะกรรมการให้เบ็ดเสร็จ แต่ไม่นิยมทำกันเพราะผู้บริจาคย่อมต้องการทำบุญให้วัดนั่นเอง