xs
xsm
sm
md
lg

“ม.แม่ฟ้าหลวง” นำวิจัยหนุน 11 ชุมชนล้านนาตะวันออก ดึงอัตลักษณ์ฟื้นท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - มฟล.จับมือ 11 ชุมชนท่องเที่ยว 4 จังหวัดภาคเหนือ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน บ่มเพาะ-รวบรวมองค์ความรู้ฟื้นฟูภูมิปัญญา ต่อยอดอัตลักษณ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ทัวร์สุขภาพ อาหาร สมุนไพร ฯลฯ ดึง นทท.รับเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้


หลังมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เชียงราย-พะเยา-แพร่-น่าน ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นำร่อง 11 ชุมชน 4 จังหวัดภาคเหนือ เชียงราย-พะเยา-แพร่-น่าน หรือล้านนาตะวันออก ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ประกอบด้วยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มวิถีไทยวิถียองบ้านสันทางหลวง ต.จันจว้า อ.แม่จัน ศูนย์สมุนไพรบำบัดบ้านม่วงคำ ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ท่องเที่ยวชุมชนสุขภาพอาข่าบ้านห้วยส้าน ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านน้ำม้า ต.สถาน อ.เชียงของ วิสาหกิจพุทธเกษตรอินทรีย์เฉลิมพระบารมี รัชกาลที่ 9 ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย, กลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ปะโอ ต.หย่วน อ.เชียงคำ กลุ่มโบราณสถานเวียงลอ ต.ลอ อ.จุน, วิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมืองแพร่ วิสาหกิจชุมชนปางงุ้นหมู่บ้านสีเขียวท่องเที่ยวสุขใจ ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ และกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนห้วยพ่าน ต.เปือ อ.เชียงกลาง วิสาหกิจชุมชนชมรมแพทย์แผนไทย ต.บ่อสวก อ.เมืองน่าน

ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้แต่ละชุมชนได้นำผลิตภัณฑ์ที่ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มฟล.จัดแสดงที่ห้องคำมอกหลวง อาคารอี-พาร์ค เช่น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มวิถีไทยวิถียองบ้านสันทางหลวง นำพืชสมุนไพรพื้นบ้านมาแปรรูปให้เก็บรักษาไว้ได้นาน จัดทำเป็นบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย สามารถใช้เป็นสมุนไพรจากขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ เพื่อดื่มสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันจากไวรัสโควิด-19 หรือนำไปเป็นสมุนไพรแช่เท้าเพื่อความผ่อนคลาย แปรรูปข้าวและสมุนไพรเป็นครีมทาผิว ฯลฯ

วิสาหกิจพุทธเกษตรอินทรีย์เฉลิมพระบารมี รัชกาลที่ ๙ ได้ส่วนต่างๆ ของบัว เช่น เกสรบัว ใบบัว ฯลฯ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรจากบัวและสมุนไพรอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนท่องเที่ยวชุมชนสุขภาพอาข่าบ้านห้วยส้าน นำเสนอผ้าปักชาติพันธุ์อาข่า สมุนไพรพื้นบ้านต่างๆ ที่รวบรวมเป็นตำรับสำหรับป้องกันและรักษาโรคต่างๆ เป็นต้น


รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. กล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น ฯลฯ จะมีสถานที่ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเชิงสุขภาพ เช่น ปรุงอาหาร ใช้สมุนไพร บริการผ่อนคลายต่างๆ ฯลฯ เป็นมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดให้คนกลับมาเที่ยวอีก ขณะที่ภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะเชียงราย ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 จังหวัดสมุนไพรของประเทศไทย และภาคเหนือตอนบนก็อุดมสมบูรณ์ไม่น้อยไปกว่าที่ใดในโลก มีความหลากหลายและภูมิปัญญาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ดังนั้น มฟล.จึงเข้าไปศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนที่มีความพร้อมก่อน ซึ่งผลการดำเนินการตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น หลายชนิดมีเพียงแห่งเดียวในโลก เพียงแต่ที่ผ่านมามีการนำมาใช้ประโยชน์เฉพาะภายในท้องถิ่นโดยไม่ได้มีการต่อยอด ประกอบกับช่วงเวลาเริ่มโครงการก็มีวิกฤตไวรัสโควิด-19 พอดี ทำให้ภาคการท่องเที่ยวซบเซาด้วย

เมื่อมีการเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้งก็จะทำให้ชุมชนเหล่านี้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจและกลับมาใช้บริการทางสุขภาพ หาซื้อผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ ยังส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าไปต่อยอดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หลังจากจบการศึกษาออกไปแล้ว ซึ่งจะดีกว่าการปล่อยให้ทุนข้ามชาติเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย

ด้าน ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า เชียงรายและภาคเหนือมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ดังนั้นเป้าหมายสำคัญคือการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวประทับใจและกลับมาอีกครั้งหลังวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลได้ประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าเชียงรายคงจะได้รับอานิสงส์ในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นฤดูหนาวเต็มตัว ดังนั้น มฟล.จึงร่วมกับทั้ง 11 ชุมชนเตรียมความพร้อมเพื่อรอเวลาเปิดประเทศให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เลย


ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าแต่ละชุมชนเป้าหมายมีความหลากหลายและอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน จึงมีเสน่ห์ที่ดึงดูดด้านการท่องเที่ยวต่างๆ จึงคาดหวังว่าจะมีการขยายการพัฒนาออกไปยังชุมชนอื่นๆ ในภาคเหนือที่มีความหลากหลายเช่นกัน เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้ไปค้นหาและใช้บริการด้านท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนต่อไป

"กิจกรรมของโครงการมีหลากหลายทั้งสำรวจชุมชน พัฒนาโมเดลการท่องเที่ยวของแต่ละชุมชน พัฒนานวัตรกรรมผลิตภัณฑ์บริการสุขภาพของแต่ละชุมชน ทดสอบและประเมินเส้นทางท่องเที่ยวที่มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแก่นักท่องเที่ยวจริง ซึ่งปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการขั้นนี้อยู่ และสุดท้ายคือจัดหาตลาด นำสินค้าของชุมชนไปจัดแสดงออนไลน์และเจาะตลาดอี-คอมเมิร์ซ ฯลฯ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง" ดร.ภาณุพงษ์กล่าว

ด้านนางสังเวียน ปรารมณ์ ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มวิถีไทยวิถียองบ้านสันทางหลวง กล่าวว่า เดิมชาวบ้านก็มีการใช้สมุนไพร อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เสื้อผ้า ฯลฯ อันเป็นเอกลักษณ์ตามภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีการรวบรวมเป็นหมวดหมู่ เพราะชาวบ้านก็จะมีลักษณะต่างคนต่างใช้แม้แต่จะนำมาขายก็ไม่ได้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย กระทั่ง มฟล.เข้าไปศึกษาวิจัยจึงได้มีการรวบรวมภูมิปัญญาและจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ จึงเชื่อว่าเมื่อกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเชียงรายจะได้รับความประทับใจและกลับมาซ้ำอีกครั้งอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น