xs
xsm
sm
md
lg

ศรัทธาไม่เสื่อมคลาย! พ่อเมืองเพชรบูรณ์นำคณะอุ้มพระดำน้ำ เผยเหตุอัศจรรย์วันรำถวาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพชรบูรณ์ - ผู้ว่าฯ ในฐานะพ่อเมืองนำกรมการเมืองทั้งเวียง วัง คลัง นา อุ้มพระดำน้ำ บวงสรวงเทพยดา สืบสานตำนานที่ถือปฏิบัติกันมาหลายร้อยปี ท่ามกลางชาวเพชรบูรณ์ร่วมโปรยดอกดาวเรืองจนแม่น้ำป่าสักเหลืองอร่าม


วันนี้ (6 ต.ค. 64) นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ในฐานะพ่อเมือง พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ซึ่งฝ่ายเวียงคือ พล.ต.สามารถ มโนรถมงคล ผู้บัญชาการ มทบ.36 ฝ่ายวังคือ นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าฯ ฝ่ายคลังคือ นายวันชัย บุญชู ผอ.สตง.เพชรบูรณ์ และฝ่ายนาคือ นายประจวบ นาคเทียน ประธานเครือข่าย กทบ.เพชรบูรณ์ ได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวเพชรบูรณ์ จากวัดไตรภูมิ ลงเรือซึ่งตกแต่งอย่างสวยงามทวนกระแสน้ำป่าสักขึ้นไป ณ วังมะขามแฟบ (ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร) เพื่อประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ

เมื่อขบวนเรือมาถึงได้มีการประกอบพิธีบวงสรวงเทพยดา จากนั้นก็เป็นพิธีอุ้มพระดำน้ำ ซึ่งนายกฤษณ์ ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ ในฐานะพ่อเมือง เป็นผู้อุ้มพระดำน้ำ 6 ครั้ง ทิศเหนือ 3 ครั้ง ทิศใต้ 3 ครั้ง ท่ามกลางผู้ที่มาร่วมพิธีร่วมโปรยดอกดาวเรืองลงในแม่น้ำเพื่อเป็นการถวายสักการบูชาองค์พระพุทธมหาธรรมราชา ทำให้แม่น้ำเหลืองอร่ามไปด้วยดอกดาวเรือง

เมื่อดำครบทั้ง 6 ครั้งแล้วก็อัญเชิญพระขึ้นเรือ และก่อนที่จะเดินทางนำกลับไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ เจ้าเมืองพร้อมกรมการเมืองทั้ง 4 ก็ได้โยนขนมข้าวต้ม ขนมกระยาสารท ให้แก่ผู้ที่มาร่วมพิธีที่อยู่บนฝั่ง ชาวบ้านก็จะกางร่มหงายขึ้นรับขนมข้าวต้มและกระยาสารทเพื่อนำไปรับประทาน เพราะเชื่อว่าเป็นอาหารอันเป็นมงคลใครได้รับประทานแล้วก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง


ทั้งนี้ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำเป็นตำนานที่ถูกเล่าขานมานานกว่า 400 ปี โดยมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์ กระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบมีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด ก่อนกลายเป็นวังวนดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ

แต่ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป ชาวบ้านต่างพากันงมหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรกลักษณะเหมือนดำผุดดำว่าย จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิอีกครั้งหนึ่ง พร้อมร่วมกันถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา”

หลังจากนั้นในวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงประกอบพิธีดำน้ำเป็นประจำทุกๆ ปี โดยเชื่อว่าจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าประชาชนมีความสุข บ้านเมืองปราศจากโรคระบาดคุกคาม จนกลายเป็นประเพณีอุ้มพระดำน้ำอันยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทุกๆ ปีที่ผ่านมาประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์จะมีชาวเพชรบูรณ์และนักท่องเที่ยวมาร่วมชมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้นับหมื่นคน แต่ปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิดจึงงดงานสมโภชและงานรื่นเริงต่างๆ แต่ยังคงประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำเฉกเช่นที่ทำติดต่อกันมาหลายปี


ส่วนผู้ที่จะเข้าร่วมชมพิธีในครั้งนี้ เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ในฐานะผู้จัดงานได้ดำเนินการตามมาตรการ D-M-H-T-T-A ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยผู้ที่จะเข้าร่วมพิธีจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนยังไม่ครบเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ได้จัดจุดตรวจหาเชื้อโดยวิธี Antigen TestKit (ATK) ซึ่งหากตรวจไม่พบจึงจะสามารถเข้าไปร่วมชมพิธีได้

นอกจากนี้ ในช่วงเย็นของวันก่อน (4 ต.ค. 2564) ได้มีการรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา ที่บริเวณพุทธอุทยานเพชะปุระ (พระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่) โดยก่อนพิธีได้มีเมฆและฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่เมื่อพอเข้าสู่พิธีการปรากฏว่าฝนได้หยุดตกท้องฟ้าเปิดและเกิดปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำเป็นครึ่งวงกลม ซึ่งหากมองจากหน้าองค์พระจะเห็นเป็นรุ้งกินน้ำครอบองค์พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติอย่างสวยงาม หลายคนเชื่อว่าเกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธมหาธรรมราชานั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น