หนึ่งคนทำความดีส่งต่อการให้มายาวนานนับศตวรรษ บทพิสูจน์แห่งความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของ “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” นั้นเกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการอุทิศตนทำความดีด้วยความเสียสละของ ‘หลวงปู่ไต้ฮง’
หลวงปู่ไต้ฮง บุคคลสำคัญที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของศิษยานุศิษย์ และเป็นบุคคลผู้จุดประกายปณิธาน ‘ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต’ ซึ่งมูลนิธิฯ ใช้เป็นหลักในการทำงานช่วยเหลือสังคมมาตลอดระยะเวลา 110 ปี
ย้อนกลับไปในอดีต เรื่องราวของ ‘ไต้ฮงโจวซือ’ หรือ ‘ไต้ฮงกง’ หรือในภาษาไทยเรียกกันว่า ‘หลวงปู่ไต้ฮง’ ที่ขณะบรรพชาได้ปฏิบัติภารกิจสร้างคุณงามความดีไว้มากมาย ทำให้ประชาชนชาวจีนมีความเลื่อมใสศรัทธาและเทิดทูนเป็นอย่างมาก โดยมีสองภารกิจสำคัญ คือ หนึ่งชักชวนสานุศิษย์สร้างศาลาให้ประชาชนเจริญจิตภาวนา และใช้สำหรับแจกจ่ายยารักษาโรคในช่วงที่เกิดโรคระบาดหนัก อีกทั้งยังชวนสานุศิษย์ออกเก็บศพ และรวบรวมเงินเพื่อทำโลงศพให้ผู้ยากไร้ก่อนนำไปฝัง สำหรับภารกิจลำดับที่สอง คือ เป็นศูนย์กลางรวบรวมเงินทองจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อนำมาสร้างสะพานหินข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกรากเป็นผลสำเร็จ ทั้งที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะสร้างได้จริง เมื่อหลวงปู่ไต้ฮงมรณภาพ ชาวจีนได้รวมพลังสร้างกุศลศาลาอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงหลวงปู่ไต้ฮง ชื่อว่า ‘ป่อเต็กตึ๊ง’ มีความหมายว่า ‘คุณานุสรณ์’ หรือ อนุสรณ์แด่ผู้มีคุณความดี ซึ่งปัจจุบันมีไม่น้อยกว่าห้าร้อยแห่งทั่วประเทศจีน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 ศิษยานุศิษย์ชาวจีนได้นำความศรัทธาที่มีต่อหลวงปู่ไต้ฮงขยายสู่ผืนแผ่นดินไทย โดยอัญเชิญรูปจำลองหลวงปู่ไต้ฮงมาประดิษฐานที่ร้านกระจก ย่านวัดเลียบ ก่อนจะย้ายไปประดิษฐาน ณ สุสานวัดดอนกุศล (สุสานเก่าของมูลนิธิฯ) และในปี 2452 สานุศิษย์ได้รวบรวมเงินและจัดซื้อที่ดินสร้างศาลาประดิษฐานถาวร ณ ถนนพลับพลาไชย ข้างวัดคณิกาผล กรุงเทพมหานคร ก่อนจะสร้างอาคารป่อเต็กตึ๊งขึ้นในปี 2452-2453 และปัจจุบัน ‘ศาลเจ้าไต้ฮงกงแห่งใหม่’ ซึ่งเป็นศาลเจ้าไต้ฮงกงแห่งที่ 2 อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง สำหรับประดิษฐานองค์ไต้ฮงกงหยกขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมใช้เป็นศูนย์กลางด้านกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมเพื่อสังคม ส่วนสุสานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งสำหรับฝากฝังศพไร้ญาติ ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
กว่า 110 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ยังคงเดินหน้าทำงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ เอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์ ผู้ตกทุกข์ได้ยากจากภัยพิบัติ จนครบวงจรชีวิต คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยไม่จำกัดชนชั้น วรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ และวัย ภายใต้วัตถุประสงค์ 6 ข้อ ได้แก่
หนึ่งช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย และภัยอื่นๆ
สองช่วยเหลือจัดการศพทั่วไป และจัดตั้งสุสาน
สามจัดตั้งโรงพยาบาลใช้ชื่อว่า ‘โรงพยาบาลหัวเฉียว’ รักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยทุกสาขาโรค
สี่จัดตั้งโรงเรียนและสถานศึกษา (มหาวิทยาลัย)
ห้าส่งเสริมและบำรุงกิจกรรมด้านศาสนา วรรณกรรม ศิลปะ และวิทยาศาสตร์
หกบำเพ็ญการกุศลโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้ มอบอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาล บริจาคข้าวสารอาหารแห้ง สิ่งของอุปโภคบริโภคอื่นๆ รวมถึงการมอบทุนการศึกษาและมอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพ
โดยการทำงานตามวัตถุประสงค์จากข้อสามและข้อสี่นั้น ก่อให้เกิดการจัดตั้งสามเครือข่ายของมูลนิธิฯ ได้แก่ โรงพยาบาลหัวเฉียว โรงพยาบาลที่ทันสมัยได้มาตรฐาน และเป็นศูนย์ฟอกไตเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์เป็นคณะแรกของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยออกรับใช้สังคม รวมทั้งก่อตั้งคลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว นำศาสตร์การแพทย์แบบจีน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน และปัจจุบันได้จัดตั้ง หัวเฉียวศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรจีนแบบครบวงจร อาคารคลังยาศรีสมาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยทั้งสามเครือข่าย ช่วยให้มูลนิธิฯ สามารถปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือสังคมได้อย่างต่อเนื่องและครบวงจร ตามปณิธาน ‘ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต’
ในโอกาสครบรอบ 110 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมบันทึกเรื่องราวการทำความดีลงบนเว็บไซต์ https://www.ต้นไม้แห่งความดี.com/ หนึ่งในกิจกรรมสืบสานปณิธานความดีของมูลนิธิฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสะสมความดีทีละเล็กทีละน้อย หลอมรวมให้กลายเป็นพลังความดีที่ยิ่งใหญ่ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความดีที่ยั่งยืนต่อไป