xs
xsm
sm
md
lg

วธ.-ททท.เดินเครื่องปั้น 12 ชุมชนชาติพันธุ์ 8 จว.ล้านนา เพิ่มค่าผืนผ้าพื้นถิ่น-ชูโรงฟื้นท่องเที่ยวหลังโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - ก.วัฒนธรรมผนึก ททท.-ภาคีเครือข่ายสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวพาทัวร์ “Familiarization Trip (FAM Trip)” 12 ชุมชนชาติพันธุ์ 8 จว.ล้านนา ชูวิถีวัฒนธรรม-ผลิตภัณฑ์ไทลื้อ ไทพวน ไทยอง อาข่า ฯลฯ ดันท่องเที่ยวรับเปิดเมือง


การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวอย่างหนักและยาวนานนั้น ระหว่างที่ตั้งตารอการฟื้นตัว สำนักงานวัฒนธรรม-การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน-สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยว ดำเนินโครงการ “Familiarization Trip (FAM Trip) เส้นทางท่องเที่ยว” ตามเส้นทางสายวัฒนธรรมขึ้น เพื่อเยี่ยมเยียนและนำพาผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน 12 ชุมชนชาติพันธุ์เป้าหมาย 8 จังหวัดล้านนา-ภาคเหนือตอนบน รองรับการเปิดการท่องเที่ยวในอนาคตหลังวิกฤตโควิด-19 เบาบางลง

ประกอบด้วย ชุมชนม้งบ้านแม่สาใหม่ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม-ชุมชนกะเกรี่ยงบ้านห้วยบง ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่, ชุมชนไทยองบ้านหนองเงือก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน, ชุมชนไทลื้อบ้านกล้วยแพะ ต.กล้วยแพะ อ.เมืองลำปาง, ชุมชนไทใหญ่บ้านหมอกจำแป่ ต.หมอกจำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน, ชุมชนลาหู่บ้านห้วยเฮี๊ยะ ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า, ชุมชนกะเหรี่ยงแดงบ้านในสอย ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน

ชุมชนอาข่าบ้านผาหมี ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย, ชุมชนไทลื้อบ้านศรีดอนชัย ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย, ชุมชนไทลื้อตำบลหย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา, ชุมชนไทพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมืองแพร่ และชุมชนไทลื้อบ้านหนองบัว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน


ล่าสุด นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย น.ส.กรุณา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ททท.สำนักงานเชียงราย ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน นำโดยสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย นำร่อง FAM Trip ตามเส้นทางสายวัฒนธรรมของเชียงราย

นายพิสันต์กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีโครงการพัฒนากลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ โดยคัดเลือกดำเนินงานใน 12 ชุมชนชาติพันธุ์ 8 จังหวัดภาคเหนือดังกล่าว ซึ่งเชียงรายมีอยู่ 2 แห่ง คือ ชุมชนชาติพันธุ์ไทลื้อบ้านศรีดอนชัย ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ และชุมชนชาติพันธุ์อาข่าบ้านผาหมี อ.แม่สาย

การจัด FAM Trip จะมีการเดินทางไปตามเส้นทางจาก อ.เมืองเชียงราย ผ่านสถานที่ทางวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงทั้ง 2 ชุมชนเป้าหมาย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้สัมผัสและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการสัมผัสความเป็นเอกลักษณ์ของสถานที่ทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถนำมาส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษา สืบสาน ต่อยอด และคงคุณค่าทางมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้สืบทอดได้อย่างยั่งยืนด้วย

สำหรับเส้นทาง FAM Trip เชียงราย เริ่มจากอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช อ.เมืองเชียงราย ไปสักการะคุ้มพญามังรายและพระธาตุปูตุ๋ อ.พญาเม็งราย พระธาตุเจ้าเขากาด และพิพิธภัณฑ์ระฆัง วัดหลวง อ.เชียงของ ก่อนเข้าเยี่ยมชมสัมผัสวิถีชุมชนบ้านศรีดอนชัย ชมพิพิธภัณฑ์ไทลื้อ บ้านครูช่างศิลปหัตถกรรม ศิลปาชีพระหว่างประเทศ ชมเฮือน 100 ปี ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเฮือนไต รวมทั้งได้สัมผัสวิถีชีวิต การแสดง การละเล่น ศิลปะของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ พิพิธภัณฑ์ลายคำ กลุ่มสตรีทอผ้าไทลื้อศรีดอนชัย


จากนั้นคณะได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่ อ.แม่สาย เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตชาวอาข่าบ้านผาหมี เข้าเยี่ยมชม “บูซอ โฮมสเตย์” ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของบ้านอาข่าดอยผาหมี ซึ่งมีทิวทัศน์งดงาม และชมการแสดง-การทำผ้าปักของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า

โอกาสเดียวกันยังได้รับฟังการเล่าเรื่องจาก นายมนตรี พฤกษาพันธุ์ทวี หรือพ่อหลวงซาเจ๊ะ อดีตผู้ใหญ่บ้านผาหมี ซึ่งเคยรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ ณ หมู่บ้านผาหมีถึง 3 ครั้ง กระทั่งหมู่บ้านรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีจำนวน 9 กลุ่มในอดีตเลิกปลูกฝิ่น หันมาปลูกพืชเกษตร ได้สัญชาติไทย และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่จนกลายเป็นหมู่บ้านทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในปัจจุบัน

ช่วงท้ายของ FAM Trip คณะเดินทางไปชมการแกะสลักหินเป็นพุทธศิลป์ที่ อ.แม่สาย พระพุทธรูปสานไม้ไผ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่วัดหิรัญญาวาส แวะอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และก่อนวนกลับเมืองเชียงราย แวะไปเยี่ยมชุมชนบ้านสันทางหลวง ต.จันจว้าใต้ อ.แม่จัน เพื่อร่วมฐานสุขภาพ แช่เทา ย่ำเกลือ และปักผ้าของชาวไทยอง และเมื่อเข้าสู่ อ.เมืองเชียงราย ยังเข้าชมศิลปะ ณ ขัวศิลปะ ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย

นางนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย กล่าวว่า เชียงรายมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แต่ละกลุ่มมีการถักทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้น ทางสมาคมฯ ได้สร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงกับกลุ่มต่างๆ กรณีชุมชนไทลื้อบ้านศรีดอนชัยและชุมชนอาข่าบ้านผาหมี ถือเป็น 2 ชุมชนในเครือข่ายที่อยู่ในเป้าหมายของกระทรวงวัฒนธรรมด้วย ซึ่งการจะสร้างมูลค่าให้ชุมชนดังกล่าวนั้นนอกจากทางภาคเอกชนจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดการท่องเที่ยวในอนาคตแล้ว ยังส่งเสริมการสร้างมูลค่าจากผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนนั้นๆ มีอยู่


โดยเครือข่ายได้มีการรวบรวมผ้าปักลวดลายของกลุ่มต่างๆ แล้วนำมาออกแบบด้วยดีไซเนอร์ที่มีฝีมือให้เป็นชุดที่นำมาใช้ในยุคปัจจุบัน แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของลวดลายเดิมอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการอยู่แล้วในชุมชนเครือข่ายของกระทรวงวัฒนธรรมและยังมีชุมชนอื่นๆ ที่เข้าไปร่วมด้วย เช่น กลุ่มผ้าทอบ้านหาดบ้าย ต.ริมโขง อ.เชียงของ กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยง บ้านรวมมิตร ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย กลุ่มไทยองบ้านสันทางหลวง ต.จันจว้าใต้ อ.แม่จัน ฯลฯ

ทั้งนี้ การส่งเสริมดังกล่าวจะทำให้แต่ละชุมชนอนุรักษ์ผ้าทอลวดลายของตัวเองเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป และยังสร้างมูลค่าเพิ่มไปในตัว ซึ่งปกติผ้าทอท้องถิ่นเป็นผ้าที่มีราคาแพง เพราะมีกระบวนการตั้งแต่จัดทำเส้นใย การปัก การทอ ฯลฯ ที่เป็นงานฝีมือทั้งหมดอยู่แล้ว แต่ก็เป็นที่นิยมในตลาดระดับสูงที่ไม่มีปัญหาทางการเงิน เมื่อนำไปประยุกต์จัดทำเป็นชุดตามพิธีการต่างๆ ทำให้ตลาดมีความยั่งยืนควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้












กำลังโหลดความคิดเห็น