เชียงราย - “ถ้าไม่มีในหลวง ร.๙ ชาวเขาไม่มีวันนี้แน่..” เปิดใจ “พ่อหลวงซาเจ๊ะ” อดีต ผญบ.ผาหมี ผู้จูงลาถวายขณะเสด็จฯ บนดอยผาหมีช่วยพี่น้องอาข่าเลิกปลูกฝิ่นได้ วันนี้ไม่อิจฉาใครแล้ว ผาหมียังกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชาติพันธุ์ภาคเหนือ
เครือข่ายพี่น้องชาติพันธุ์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องชาติพันธุ์ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักนายมนตรี (หม่อโม๊ะกู่) พฤกษาพันธุ์ทวี หรือเรียกกันติดปากว่า “พ่อหลวงซาเจ๊ะ” อดีตผู้ใหญ่บ้านผาหมี หมู่ 6 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นบุคคลที่ปรากฏในภาพรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ ๙ ณ หมู่บ้านผาหมี ชายแดนแม่สายหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา
ครั้งนั้นพ่อหลวงซาเจ๊ะมีอายุวัยหนุ่มเพียง 26 ปี เป็นผู้จูงลาถวาย “ในหลวง ร.๙” ปัจจุบันล่วงเข้าสู่วัย 77 ปีแล้ว แต่พ่อหลวงซาเจ๊ะยังคงทรงจำเรื่องราวสุดประทับใจครานั้นได้อย่างแม่นยำเหมือนเพิ่งผ่านพ้นไป แม้ว่าวันนี้สภาพบ้านเรือนชุมชนผาหมีจะเปลี่ยนแปลงไป
แต่เพราะความเปลี่ยนแปลง..ทำให้พ่อหลวงซาเจ๊ะบอกว่ายิ่งทำให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.๙ อย่างหาที่สุดไม่ได้
ทั้งนี้ ในโอกาสที่นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรม จ.เชียงราย นำคณะตัวแทนภาครัฐและเอกชนเดินทางไปเยือนสถานที่ต่างๆ ในเชียงรายเพื่อปลุกกระแสเส้นทางท่องเที่ยวสู้โควิด Familiarization Trip (FAM Trip) ตามโครงการพัฒนากลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้เลือกหมู่บ้านใน 8 จังหวัดภาคเหนือ 12 หมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ และหมู่บ้านผาหมีก็เป็นหนึ่งในนั้น
สร้างความปลื้มใจให้แก่พ่อหลวงซาเจ๊ะที่ได้เห็นผลของการได้รับพระมหากรุณาธิคุณมาตั้งแต่อดีต และพร้อมจะเล่าเรื่องราวต่างๆ สมัยตั้งหมู่บ้าน การเสด็จพระราชดำเนิน และการพัฒนา กระทั่งก่อเกิดเป็นหมู่บ้นผาหมีในปัจจุบัน ให้คนรุ่นลูกหลานได้รับฟัง
ขณะที่สภาพสังคมชุมชนบ้านผาหมีเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ผู้คนมุ่งเน้นทำการเกษตร แต่คนผาหมีรุ่นใหม่จะเน้นไปทางงานบริการการท่องเที่ยว เช่น ร้านกาแฟ รีสอร์ต โฮมสเตย์ ฯลฯ แต่พ่อหลวงซาเจ๊ะก็ยังจดจำเรื่องราวก่อนที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์จะพัฒนามาถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
พ่อหลวงซาเจ๊ะเล่าเรื่องราวให้ฟังว่า บ้านผาหมีเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าที่อพยพจากจีนและมาตั้งรกรากอยู่ ณ ที่ปัจจุบันนานกว่า 80 ปีแล้ว เดิมมีอาชีพปลูกฝิ่นกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เพราะพื้นที่ไม่มีถนนหนทางเข้าถึงและไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไรจึงจะอยู่รอดได้ จึงพากันปลูกฝิ่นขาย จนคนเข้าใจผิดว่าปลูกเพราะหวังความร่ำรวย ซึ่งไม่เป็นความจริง
กระทั่งปี 2513 ชีวิตที่มืดมนก็เปลี่ยนไป เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังหมู่บ้านผาหมี
พ่อหลวงซาเจ๊ะกล่าวว่า ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาบ้านผาหมี 3 ครั้ง คือปี 2513 ปี 2515 และ 2517 โดยครั้งแรกตนเป็นเพียงผู้นำหมู่บ้าน ต่อมาทรงให้เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาในครั้งที่ 2 ตนก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ทำให้มีโอกาสได้รับเสด็จถึง 3 ครั้ง และถือเป็นผู้ใหญ่บ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์คนแรกของประเทศไทยด้วย
สภาพปัญหาในอดีตนั้นคือ บนภูเขามีการปลูกฝิ่นกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายดังกล่าว ครั้งแรกที่ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาก็ทรงให้เลิกปลูกฝิ่น ซึ่งชาวบ้านก็ตอบรับทันที เพราะเดิมก็ไม่อยากปลูกกันอยู่แล้ว แต่ด้วยสภาพพื้นที่บังคับจึงต้องทำ ดังนั้นจึงเลิกปลูกฝิ่นหลังจากปี 2513 นับไปอีก 3 ปี ในหลวงทรงนำต้นพืชพันธุ์ต่างๆ มาให้ปลูกนับ 100 ชนิด
“สาเหตุที่ต้องเลิกปลูกฝิ่นหลังในหลวงเสด็จอีก 3 ปี เพราะช่วงแรกพืชพันธุ์ที่นำมาปลูกยังไม่ให้ผลผลิตกระทั่งครบ 3 ปีแล้วก็ไม่มีใครปลูกฝิ่นอีกเลยจนถึงปัจจุบัน”
สำหรับพันธุ์พืชที่นำมาปลูกนับ 100 ชนิดนั้นในหลวงตรัสว่ามีทั้งที่อาจจะเหมาะสมและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ แต่ให้ทดลองนำมาปลูกทั้งหมดก่อน หากพันธุ์ใดเหมาะสมก็ปลูก อันไหนไม่ดีก็ทิ้งไป ปรากฏว่าเป็นจริงตามนั้น เพราะมีหลายชนิดที่นำมาปลูกแล้วได้ผลดีจริง เช่น กาแฟ ฯลฯ ทั้งๆ ที่พวกตนไม่เคยรู้จักกาแฟมาก่อน
เมื่อปลูกแล้วได้ผลจึงมีการปลูกอย่างแพร่หลายในเชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง ทั้ง 3 จังหวัดนั้นกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยกาแฟถึง 90% อีก 10% เป็นพืชชนิดอื่น และคนไทยทั่วไปก็บริโภคกาแฟจาก 3 จังหวัดนี้เป็นหลักด้วย
นอกจากเรื่องการเลิกปลูกฝิ่นแล้ว พวกตนยังได้รับปากกับในหลวงว่าจะช่วยกันดูแลแหล่งน้ำ โดยเฉพาะจากแม่สาย-ดอยตุงมีแหล่งน้ำนับ 100 แหล่ง พระองค์ยังทรงฝากให้ชาวบ้านได้ดูแลป่าไม้โดยใช้วิธีง่ายๆ 3 ข้อ 1. ไม่ตัด 2. ไม่เผา และ 3. เมื่อมีไฟไหม้ให้ช่วยกันไปดับ โดยไม่ต้องปลูกเสริม เพราะต้นไม้จะขึ้นเองตามธรรมชาติ กระทั่งพื้นที่แถบนี้จากเดิมที่เคยมีปัญหาไฟป่าเมื่อมองไปทางไหนมีแต่สีแดงและเหลืองของเปลวไฟ แต่ปัจจุบันมีแต่สีเขียวขจี เพราะในหลวงอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ตนยังรับปากข้อที่ 3 ให้ดูแลประชาชนและความมั่นคงเพราะเป็นพื้นที่หมู่บ้านชายแดน ซึ่งตนได้ยึดมั่นมาโดยตลอดและจะยึดมั่นจนกว่าชีวิตจะหาไม่
“หลังจากนั้นความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นตามลำดับ จนถึงปัจจุบันแม้ไม่รวยมาก อยู่กันแบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่พวกเราได้อยู่อย่างนี้ไม่อิจฉาใครแล้ว นับแต่ปู่ย่าตายายมาไม่เคยสบายเลย ถึงวันนี้ตนอายุ 77 ปีกลับได้อยู่สบาย จึงดีใจมากๆ สมัยก่อนทำเกษตรและหลายอย่าง ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แม้พวกตนอายุมากแต่รู้สึกพอใจที่ลูกๆ หลานๆ ได้สืบสานกันต่อไป อยากจะอยู่ถึง 100 ปีไม่อยากตายเพราะปู่ย่าตายายก็ไม่เคยสบายอย่างนี้”
พ่อหลวงซาเจ๊ะย้ำอีกว่า ในอดีตกลุ่มชาติพันธุ์มี 9 ชนเผ่า พวกเราล้วนระลึกในจิตใจเสมอว่าพวกเราอยู่ได้เพราะในหลวง ซึ่งพระองค์นอกจากจะทรงส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่แล้ว ยังได้พระราชทานเหรียญสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ในอดีต ทำให้ต่างได้รับสัญชาติไทยและอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ร่วมกันพัฒนาพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน
“ถ้าไม่มีในหลวง ร.๙ ชาวเขาก็ไม่มีวันนี้แน่นอน” พ่อหลวงซาเจ๊ะย้ำ
ท้ายที่สุด พ่อหลวงซาเจ๊ะฝากถึงคนไทยโดยเฉพาะรุ่นลูกหลานให้รู้รักสามัคคีกัน เพราะพวกเราต่างเป็นคนไทยด้วยกันจึงคุยกันรู้เรื่อง และเมื่อสามัคคีกันแล้วจะได้ร่วมกันพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้ต่อไป