กาญจนบุรี - พระเลขาวัดท่าพุฯ เผยครั้งแรก หลังหมอปลาพร้อมทนายนำตรวจสอบศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติด เผยรอเพียงคำสั่งราชกิจจานุเบกษา อย่างเป็นทางการจึงปิดศูนย์ได้
จากกรณี นายจีรพันธ์ แสงขาว หรือ หมอปลา พร้อมด้วย นายไพศาล เรืองฤทธิ์ ทนายความ นำคณะสื่อมวลชนเข้าตรวจสอบศูนย์สงเคราะห์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด วัดท่าพุราษฎร์บำรุง หมู่ 10 ต.ด่านมะขามเตี้ย อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองของอดีตผู้บำบัดชายรายหนึ่งว่า ถูกซ้อมทรมาน ให้ทำสัญญาและเรียกเก็บเงิน หากจะออกมาก็ต้องจ่ายเงิน
โดยมีผู้บำบัดอยู่กันอย่างแออัดประมาณ 300 คน แต่มีห้องน้ำเพียง 2 ห้อง พร้อมตั้งคำถามว่า ศูนย์ที่ตั้งขึ้นมาเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดหรือไม่ วันเดียวกันนั้น พระครูปลัดประสิทธิ์ รตินฺธโร เจ้าอาวาสวัดท่าพุราษฎร์บำรุง ได้มรณภาพลงก่อนที่ทางทีมงานของทนายไพศาล จะเดินทางมาถึงที่วัดเพียง 15 นาที เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.ย.64 ที่ผ่านมาตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้ว
ล่าสุดวันนี้ 22 ก.ย.64 พระชาญวิทย์ ชิตมาโร พระเลขาเจ้าอาวาสวัดท่าพุราษฎร์บำรุง ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ด่านมะขามเตี้ย เพื่อเดินเรื่องเอกสารขอใบมรณบัตรให้กับอดีตเจ้าอาวาส แต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จก็ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ให้เดินทางไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์สงเคราะห์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด วัดท่าพุราษฎร์บำรุง ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขอำเภอด่านมะขามเตี้ย
โดยมี พ.ต.อ.อัฑฒาสิษฏฐ์ พุ่มเกตุแก้ว ผกก.สภ.ด่านมะขามเตี้ย นายสุรพร จันทร์สุนทรพจน์ ปลัดอำเภอด่านมะขามเตี้ย นายศิลา นาคหล่อ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 ต.ด่านมะขามเตี้ย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.กาญจนบุรี เข้าร่วม มี พลตรีศุรพงษ์ ชำนิยันต์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2 กอ.รมน.เป็นหัวหน้าคณะเพื่อรับทราบข้อมูล โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ
จากนั้นคณะของพลตรีศุรพงษ์ ชำนิยันต์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2 กอ.รมน.ได้เดินทางไปกราบสีระสังขารพระครูปลัดประสิทธิ์ รตินฺธโร เจ้าอาวาสวัดท่าพุราษฎร์บำรุง ที่บรรจุอยู่ในโลงตั้งอยู่ภายในศาลาการเปรียญ จากนั้นไปสำรวจศูนย์สงเคราะห์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่กำลังเป็นข่าว พร้อมไปสำรวจห้องน้ำอยู่อยู่ใกล้กัน เมื่อสำรวจตรวจสอบแล้วเสร็จ พลตรีศุรพงษ์ ชำนิยันต์ ได้เดินทางกลับทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
ทั้งนี้ พระชาญวิทย์ ชิตมาโร พระเลขาเจ้าอาวาสวัดท่าพุราษฎร์บำรุง ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนครั้งแรกตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ข้างต้นว่า เกี่ยวกับกรณีการปิดศูนย์สงเคราะห์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด วัดท่าพุราษฎร์บำรุง ขณะนี้ต้องรอคำสั่งแจ้งใบยกเลิกทำศูนย์ฟื้นฟูจากสาธารณสุขที่จะต้องเป็นหน่วยงานแจ้งมา ที่ต้องทำเป็นเอกสาร แต่ขณะยังไม่สามารถพูดได้ว่าเลิกดำเนินการเพราะต้องรอเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นแล้วจึงจะแจ้งลงมาเป็นราชกิจจานุเบกษาเพราะศูนย์บำบัดแห่งนี้ได้รับการประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา
ส่วนเรื่องอาคารสถานที่จะทำอย่างไรต่อไปนั้นต้องรอทางคณะกรรมการวัดและคณะสงฆ์ มาประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะใช้เป็นสถานที่อะไรต่อไปเพราะศูนย์บำบัดอยู่ในเขตวัด
สำหรับเจ้าอาวาสท่านก็ได้มรณภาพไปแล้ว ตอนนี้ยอมรับว่าทำอะไรไม่ถูกแล้ว แต่ก็อยากจะฝากไปถึงลูกศิษย์ลูกหาคนที่นับถือหลวงพ่อให้ช่วยกันเข้ามาประชุมจัดการเรื่องงานศพของท่านให้เรียบร้อยก่อน ส่วนกำหนดการจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ถามว่าในส่วนของผู้ที่มาฟื้นฟูและสมัครอยู่ที่วัดต่อนั้นจะดูแลกันอย่างไร เรื่องนี้ก็ต้องดูแลกันไปตามที่สมควร แต่ก็จะดูแลให้อย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ วันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา น.ส.เพ็ญศรี กลั่นบุศย์ นายอำเภอด่านมะขามเตี้ย ได้มอบหมายให้นายสุรพร จันทร์สุนทรพจน์ ปลัดอำเภอด่านมะขามเตี้ย นายอุกฤษฎ์ บุษบงค์ สาธารณสุขอำเภอด่านมะขามเตี้ย ร่วมกับ พ.ต.ท.เชาวลิตพงศ์ เฟื่องประยูร รอง ผกก.ป.สภ.ด่านมะขามเตี้ย ไปตรวจสอบศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูวัดท่าพุราษฎร์บำรุง เพื่อหาข้อเท็จจริง โดยมีพระชาญวิทย์ ชิตมาโร เลขาเจ้าอาวาสวัดท่าพุราษฎร์บำรุง นำพาตรวจสอบและให้ข้อมูล
ผลการตรวจสอบได้ข้อเท็จจริงใน 3 ประเด็น คือ 1.ผู้ปกครองของผู้ติดยาเสพติดรายหนึ่งที่เข้ามาบำบัดการติดยาเสพติด ขาว ต.เมืองน้อย อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด มอบอำนาจให้นายชาญ (ขอสงวนนามสกุล)ให้นำตัวชายรายดังกล่าวส่งตัวเข้าศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูวัดท่าพุราษฎร์บำรุง ในระบบสมัครใจ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.64 ครบกำหนด 1 ปีวันที่ 22 มิ.ย.65 โดยได้จัดทำประวัติและจะต้องเก็บเงินเป็นค่ากองทุนอาหารให้กับผู้เข้ารับการบำบัด จำนวน 10,000 บาท ระยะเวลา 1 ปี และเงินฝากอีก จำนวน 2,000 บาท แต่ให้ใช้คูปองแทนเงินสดเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและป้องกันการลักลอบนำเงินสดไปซื้อยาเสพติดในระหว่างเข้ารับการบำบัด กรณีผู้ที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูอยู่ไม่ครบตามกำหนดระยะเวลาที่ทางศูนย์ฯกำหนดไว้ ต้องเสียค่าปรับเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท
ประเด็นที่ 2 ได้รับข้อมูลว่าไม่มีการทำร้ายร่างกายชายขาว ต.เมืองน้อย อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ที่เข้ารับการบำบัดตามที่ปรากฎในข่าวแต่อย่างใด ที่พบเห็นนั้นเป็นร่องรอยของโรคผิวหนัง แต่บางครั้งอาจมีการทำโทษบ้างแบบครูตีนักเรียน และประเด็นที่ 3 ผู้ปกครองได้มารับตัวชายรายดังกล่าวกลับบ้านเมื่อวันที่ 15 ก.ย.64 และไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกแต่อย่างใด
สำหรับสถานที่วัดท่าพุราษฎร์บำรุง ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ประเภทให้การบำบัดรักษาในชั้นฟื้นฟูสมรรถภาพและชั้นติดตาม เมื่อปี พ.ศ.2550 และประกาศจัดตั้งสถานพยาบาลประเภทฟื้นฟูสมรรถภาพ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2555 ในขณะนี้มีผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ณ วันที่ตรวจสอบ 17 ก.ย.2564 จำนวน 200 คน
โดยการฟื้นฟูใช้ระยะเวลา 1 ปี โดยใช้ Metrix program ของสถาบันธัญญารักษ์ ร่วมกับธรรมะบำบัด สำหรับสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล มีห้องน้ำแยก จำนวน 8 ห้อง ห้องน้ำในเรือนนอน 2 ห้อง เรือนนอน 1 หลังขนาดความยาว 20 เมตร กว้าง 15 เมตร