ประจวบคีรีขันธ์ - งานเข้าก่อนเกษียณ!บริษัทรับเหมาจ่อฟ้องผู้ว่าฯ ประจวบฯ เรียกร้องค่าเสียหายละเมิดสัญญาทางปกครอง หลังเบี้ยวจ่ายค่างวดสร้างถนน 22 ล้านบาท พร้อมขอให้ชดใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5
นายนิวัฒน์ ศิริวัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท เอ ซี เอ็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า หลังจากยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานจังหวัด ก่อสร้างโครงการปรับปรุงถนนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล เส้นทางบ้านทุ่งมะเม่า-บ้านบ่อนอก ต.บ่อนอก อำเภอเมือง ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร (กม.) ใช้งบ 37.5 ล้านบาท โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 30 มี.ค.64 แต่หลังจากทำงานเสร็จตามกำหนด ขณะนี้ยังไม่รับเงินค่างวดรวมกว่า 22 ล้านบาท
"มีหนังสือชี้แจงลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดทำงานผิดพลาดในระบบการโอนเงิน ทำให้มีปัญหาต้องรอการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทย กรมบัญชีกลาง แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้แจ้งระยะเวลาที่ชัดเจนในการจ่ายค่างวด โดยบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาฟ้องศาลปกครอง เรียกร้องค่าเสียหายละเมิดสัญญาทางปกครอง หลังจากคู่สัญญาผิดนัดชำระหนี้ และขอให้ชดใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 หรือเดือนละ 1.4 แสนบาทจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และขอยืนยันว่าการยื่นประมูลทำโครงการบริษัทดำเนินด้วยความโปร่งใสไม่ได้จ่ายหัวคิว 30% ให้ผู้เกี่ยวข้อง และที่ผ่านมา มีการตรวจรับงานตามมาตรฐานที่กำหนดในแบบแปลน" นายนิวัฒน์ กล่าว
นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำนักงานจังหวัดค้างจ่ายค่างวดตั้งแต่เมษายน 2564 ทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ซ้ำเติมความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากต้องนำเงินไปใช้หนี้จากการซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ค่าเครื่องจักร ค่าแรง แต่ขณะนี้ไม่สามารถเบิกเงินค่างวดได้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ยังมีปัญหาจากกลุ่มผู้รับเหมาในพื้นที่ พยายามกีดกันการซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง โดยบริษัทรับเหมาหลายรายที่มาจากต่างจังหวัด แต่ชนะการประมูลงานก่อสร้างใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะมีปัญหาถูกกีดกันในลักษณะเดียวกันแทบทั้งหมด สำหรับค่างวดที่ค้างจ่าย ทราบว่า มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างในจังหวัด 2-3 ราย มีปัญหาลักษณะเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดสามารถเบิกจ่ายค่างวดได้ตามปกติ ส่วนงบ 22 ล้านบาท ที่จังหวัดอ้างจะเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2565 หรือหลังเดือนตุลาคม 2564 เป็นไปตามยอดเดิม ไม่มีดอกเบี้ยเยียวยาความเสียหาย
แหล่งข่าวจากข้าราชการระดับสูง ระบุว่า สาเหตุความผิดพลาดเกิดจากพนักงานราชการรายหนึ่งทำหน้าที่ทดแทนอดีตพนักงานหญิง ที่ถูกแจ้งดำเนินคดีทุจริตงบสำนักงานจังหวัด 40 ล้านบาท คืนเงินงบประมาณโครงการผิดพลาดในระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS ขณะที่หัวหน้าสำนักงานจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบการเบิกจ่ายงบให้ผู้รับเหมา 22 ล้านบาท ต้องถูกสอบสวนความผิดทางละเมิดเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย ขณะที่ก่อนหน้านี้ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด หัวหน้างานการเงินอยู่ระหว่างการรอผลสอบสวนทางวินัยร้ายแรง จากกระทรวงมหาดไทย กรณีลูกจ้างโกงงบ 40 ล้านบาท พบการทุจริตตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2563 แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป