xs
xsm
sm
md
lg

ชาวท่าตะเกียบยึดแนวทางโคกหนองนาโมเดล ปลูกสมุนไพรไล่ช้างป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - ปลูกสมุนไพรไล่ช้างป่า "โคกหนองนา โมเดล" ทางเลือกสู่ทางรอดชาวบ้านอำเภอท่าตะเกียบ

จากผลกระทบจากช้างป่าที่ออกอาละวาดทำลายพืชผลของชาวบ้านในอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นประจำนั้น ทำ ให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องปรับเปลี่ยนชนิดพืชปลูก จากทำไร่อ้อย ปลูกไม้ผล เช่น สับปะรด มะละกอ แตงโม ต้องหันมาปลูกพืชผักสมุนไพรแทน เนื่องจากไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจของช้างป่า โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกษตร ทฤษฎีใหม่ ภายใต้โครงการโคกหนองนา โมเดล

นางทองแดง กล้าแข็ง หนึ่งในเกษตรกรหัวก้าวหน้าแห่งบ้านเนินน้อย ม.20 ต.ท่าตะเกียบ ที่หันมาปลูกพืชผักสมุนไพร แทนการทำไร่สับปะรด โดยเจียดเนื้อที่ 3 ไร่ใช้เป็นแปลงทดลองปลูกพืชผักสมุนไพรหลากหลายชนิด ภายใต้โครงการโคกหนองนา โมเดล โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกรมพัฒนาชุมชน จำนวน 1.3 แสนบาท

“มีเนื้อที่ทั้งหมด 11 ไร่ สำหรับปลูกสับปะรด แต่ต้องประสบปัญหาช้างป่าลงมาอาละวาดทำลายได้รับความเสียหายทุกปี ไม่รู้จะทำอย่างไร พอดีมีโครงการโคกหนองนาโมเดลเข้ามา ทางเจ้าหน้าที่พัฒนาการอำเภอท่าตะเกียบ แนะนำว่าให้ทดลองปลูกพืชสมุนไพรไล่ช้างดู ปรากฏว่าไม่เห็นช้างป่าเข้ามาอีกเลย”

นางทองแดง เผยต่อว่า สำหรับพืชที่ปลูกในโครงการโคกหนองนานั้นส่วนใหญ่เป็นพืชผักสวนครัว รายล้อมด้วยพืชสมุนไพร เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบ้มะกรูด รอบโครงการเพื่อป้องกันช้าง ขณะเดียวกัน ยังปลูกพืชสมุนไพรเป็นรั้วล้อมรอบไร่สับปะรดด้วย เพราะเมื่อช้างได้กลิ่นหรือกัดกินเข้าไปจะหนีไปทันที


“จากเดิมที่ต้องรอเก็บสับปะรดขาย ตอนนี้มีรายได้เกือบทุกวันๆ ละ 300-400 บาท เป็นผลผลิตจากโครงการโคกหนองนาทั้งหมด ส่วนรายจ่ายแทบจะไม่มี เพราะเรามีหมดทั้งพืชผักที่ปลูกไว้ ปลาในบ่อ ไก่ที่เลี้ยงไว่มีทั้งไก่บ้านและไก่ไข่ ส่วนตลาดไม่มีปัญหาจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงแปลงเกือบทุกวัน บางวันผลผลิตไม่พอขาย เพราะพืชผักของเราปลอดสารพิษ ผู้บริโภคชอบมาก” เกษตรกรคนเดิมกล่าว

ขณะที่ นายเบญจวัฒน์ ในวิกุล พัฒนาการอำเภอท่าตะเกียบ เผยว่า โครงการโคกหนองนา โมเดลของอำเภอท่าตะเกียบ ที่ได้รับการอนุมัติจากกรมพัฒนาชุมชนมีจำนวนทั้งสิ้น 41 โครงการ ครบตามที่ชาวบ้านร้องขอ โดยแต่ละโครงการจะได้รีบงบประมาณสนับสนุน 1.3 แสนบาท โดยดำเนินการตามแบบแปลนที่กรมกำหนดบนเนื้อที่ 3 ไร่  ประกอบด้วย บ่อน้ำ คลองไส้ไก่ ร่องน้ำในนา ส่วนพืชที่ปลูกขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และความต้องการของเกษตรกรเจ้าของโครงการ

“พืชที่ปลูกในโครงการส่วนใหญ่จะเป็นพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร เนื่องจากหาตลาดได้ง่าย และที่สำคัญป้องกันช้างป่าเข้ามาอาละวาดด้วย ช้างป่าเมื่อได้กลิ่นสมุนไพรจะวิ่งหนีทันที ไม่กล้าเข้าใกล้”


พัฒนาการอำเภอท่าตะเกียบยอมรับว่าช้างป่าคือปัญหาหลักของเกษตรกรในอำเภอท่าตะเกียบ ที่มักเข้ามากัดกินทำลายพืชผลทางการเกษตรอยู่บ่อยครั้ง ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ไปแนะนำเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืชจากพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นการปลูกพืชผสมผสานมากขึ้น โดยมีพืชสมุนไพรร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงผึ้งเพื่อป้องกันช้างป่าเข้ามาทำลายผลผลิต

“ปัญหาของท่าตะเกียบคือ ช้างป่า วิธีแก้คือปลูกพืชสมุนไพรและเลี้ยงผึ้ง ช้างป่าจะไม่ชอบพืชมีกลิ่นฉุนและผึ้ง ถ้าช้างเจอจะหนีทันที ซึ่งในพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ ขณะนี้มีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงผึ้งอยู่ 12 ราย ที่เราไปส่งเสริมและจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” นายเบญจวัฒน์ กล่าว


ทางด้าน นางสาวรัศมินท์ พฤกษาทร นายอำเภอท่าตะเกียบกล่าวถึงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในหมู่บ้านชุมชนตามตามนโยบาย 10 แฟลคชิป(10 flagships)ของกรมการปกครอง โดยยึดแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหรือในหลวงรัชกาลที่9
เนื่องจากประชาชนในพื้นที่อำเภอท่าตะเกียบกว่าร้อยละ90 ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ปลูกพืชผัก ผลไม้ ทำไร่อ้อย ไร่ยูคาฯ เป็นต้น


“ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้เราเห็นได้ชัดเลยว่าชาวบ้านอยู่รอดได้ เพราะมีการปลูกพืชผักสวนครัว ทำไร่นาสวนผสม หลังจากเขาสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ในเรื่องของบริโภคในครัวเรือนแล้ว ผลผลิตที่เหลือเขายังเอาไปขายมีรายได้ ส่วนหนึ่งจะแบ่งปันให้คนอื่นด้วย อย่างทุกวันนี้ชาวบ้านจะนำพืชผักผลผลิตพืชผลทางการเกษตรมาส่งให้ทางอำเภอเพื่อนำเอาไปแบ่งปันให้ที่ผู้กักตัวหลายร้อยคน ซึ่งเขาเหล่านี้เดือดร้อนไม่สามารรถออกมาทำมาหากินได้” นายอำเภอท่าตะเกียบกล่าวย้ำ

การปลูกผักสวนครัวร่วมพืชสมุนไพรในโครงการโคกหนองนา โมเดล นับเป็นอีกทางเลือกสู่ทางรอดของชาวบ้านในการป้องกันช้างป่าเข้ามาทำลายผลผลิตในพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

นายเบญจวัฒน์ ในวิกุล พัฒนาการอำเภอท่าตะเกียบ






กำลังโหลดความคิดเห็น