ลำปาง/กรุงเทพฯ - กกพ.อนุมัติแล้ว งบโครงการครูอัตราจ้างและบุคลากรสาธารณสุขแม่เมาะ หลังค้างจ่ายมาเกือบครบปี ท่ามกลางข้อสงสัยไร้โครงการฯ เสนอ ส่อผิดกฎหมาย เซ็นสัญญาจ้าง 15,000 จ่ายจริง 9,000 บาท แถมครหาละเลงงบกองทุนโรงไฟฟ้าอีกอื้อ
กรณีกลุ่มครูอัตราจ้างกองทุนพัฒนาไฟฟา โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ซึ่งมีหน้าที่ในการคัดสรรผู้เข้าไปเป็นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ (คพรฟ.) เสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการอนุมัติงบประมาณต่างๆ แก้ไขปัญหากรณีไม่ได้รับเงินเดือนมากว่า 11 เดือนแล้วนั้น
ล่าสุดทาง กกพ.ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่า นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ.ได้ออกมายืนยันว่า กกพ.ไม่ได้นิ่งนอนใจและยังเร่งรัดแก้ไขปัญหา โดยในการประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการได้กำหนดให้ คพรฟ.นำโครงการที่ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนแล้วเสนอต่อ กกพ.เพื่อพิจารณาอนุมัติได้
โดยคณะกรรมการยังได้พิจารณาอนุมัติโครงการครูอัตราจ้างและโครงการจ้างบุคลากรด้านสาธารณสุข อ.แม่เมาะ จำนวน 91 อัตรา รวมวงเงิน 16,604,400 บาท ภายใต้งบประมาณปี 2564 อีกด้วย รวมทั้งได้มีการแต่งตั้งนายอำเภอแม่เมาะให้ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งประธาน คพรฟ. ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง เพื่อขับเคลื่อนกลไกกองทุนแม่เมาะให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกองทุนให้เข้าสู่สภาวะปกติอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายณรงค์ศักดิ์ได้เปิดเผยว่าทางจังหวัดได้เสนอผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าไปเป็น คพรฟ.ครบทั้ง 8 คนนานแล้ว เป็นคนในพื้นที่ 6 คน และอีก 2 คนเป็นกำนันในเขต อ.เมืองลำปาง และ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เพื่อให้เข้าไปศึกษาและเรียกร้องสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ เนื่องจากอำเภออื่นของลำปางก็ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า แต่ไม่ได้รับเงินกองทุนเหมือน อ.แม่เมาะ
อย่างไรก็ตาม ส่วนกลางระบุว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อ 2 คนหลังไม่ถูกต้องตามระเบียบ ทั้งๆ ที่ฝ่ายกฎหมายของจังหวัดแจ้งว่าถูกต้อง หรือแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ก็สามารถเสนอชื่อตัวเองเข้าไปเป็นกรรมการได้ เพราะเป็นโควตาของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นอกจากนี้ยังไม่มีการประชุม คพรฟ.ทั้งๆ ที่ตามระเบียบสามารถให้จัดประชุมได้หากมีองค์ประกอบครบคือผู้แทนประชาชนทั้ง 6 คน ผู้แทนภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ กระทั่งเมื่อเกิดปัญหาทุกฝ่ายกลับกดดันจังหวัด
นายณรงค์ศักดิ์ยังระบุอีกว่า กรณีการว่าจ้างครูอัตราจ้างดังกล่าวยังพบว่าไม่มีการเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณ แม้แต่ผู้แทน กกพ.ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ก็ตอบประเด็นนี้ไปแล้วว่าทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย รวมทั้งยังมีการยุยงและให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนแก่คนบางกลุ่มว่าอนุมัติโครงการย้อนหลังได้อีก
นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีการร้องเรียนเข้าไปยังจังหวัดฯ ว่าถูกชักชวนให้ลงนามหรือเซ็นสัญญาจ้างในอัตราเงินเดือน 15,000 บาท แต่กลับได้รับจริงเพียง 9,000 บาทเท่านั้น เหตุที่ยอมเพราะผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งไปรับปากว่าให้รับสอนเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันไปก่อนแล้วจะออกใบรับรองประกอบวิชาชีพ 3 ปีให้ เพื่อให้สามารถนำไปสอบบรรจุราชการได้
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการ จ.ลำปางยังเปิดเผยข้อพิรุธเกี่ยวกับการใช้เงินกองทุนโรงไฟฟ้าแม่เมาะอีกหลายโครงการตลอด 20 ปีผ่านมา เช่น การจัดซื้อเครื่องเล่นกีฬานักเรียน แต่นักเรียนกลับไม่เคยได้เล่นและไม่ปรากฏคุรุภัณฑ์, ตู้ยามูลค่า 50,000 บาท แต่กลับซื้อมาในราคากว่า 100,000 บาท ปั๊มน้ำมูลค่า 70,000-80,000 บาท แต่กลับซื้อในราคากว่า 140,000 บาท ฯลฯ ซึ่ง จ.ลำปางเคยแจ้งให้ คพรฟ.ทราบ แต่ไม่มีรายงานว่ามีการสอบสวนเลย