ลำปาง - “ผู้ว่าฯ หมูป่า-ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ทิ้งระเบิดตูมใหญ่..เงินกองทุนโรงไฟฟ้าปีละ 1,000 กว่าล้าน 20 ปีกว่า 20,000 ล้านบาทส่อละเลงกันเละ บางเรื่องสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ระบุแม้แต่จ้างครูอัตราจ้างเดือนละ 15,000 บาท บางคนได้แค่ 9,000 บาท แถมรับปากสอนไปก่อนค่อยเซ็นย้อนหลังให้
กรณีมีกลุ่มครูอัตราจ้างในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้รวมตัวเรียกร้องให้ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้แก้ไขปัญหาครูอัตราจ้าง อ.แม่เมาะ จำนวน 52 อัตรา ที่ไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเวลา 10 เดือน เนื่องจากการว่าจ้างผูกพันกับคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่เสนอรายชื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเป็น คพรฟ. พบว่ากระบวนการยังไม่แล้วเสร็จนั้น
ล่าสุดนายณรงค์ศักดิ์เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวที่เข้าไปสอบถามถึงปัญหานี้ว่า ตามระบบราชการแล้วการใช้งบประมาณต้องมีการนำเสนอโครงการพิจารณาเห็นชอบกับโครงการและอนุมัติโครงการ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณใด รวมถึงงบประมาณที่ อ.แม่เมาะ ต้องขอนุมัติจากส่วนกลางก่อนแล้วจึงมีการโอนเงินงวดและทุกคนจึงไปทำสัญญาจ้างได้
แต่กรณีนี้ไม่มีการเสนอโครงการหรือไม่มีอะไรเลย แม้แต่ผู้แทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ก็ตอบประเด็นนี้ไปแล้วว่าทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย การลงนามในสัญญาในโครงการที่ไม่มีเงินงวดและการอนุมัติโครงการ ตนจึงอยากถามว่า..ผิดกฎหมายหรือไม่? และถ้าผิดก็ถือว่าผิดกฎหมายอาญา เพราะลงนามไปโดยไม่มีอำนาจ
“แต่เรื่องนี้มันซับซ้อนไปกว่านั้น มีการยุยงและให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกับกลุ่มบางกลุ่มว่าอนุมัติย้อนหลังได้ ผมถามว่าถ้ามันผิดกฎหมายแล้วเราอนุมัติย้อนหลัง คนอนุมัติย้อนหลังก็ผิดกฎหมาย ถามว่าความผิดกฎหมายคืออะไร..ติดคุก”
นายณรงค์ศักดิ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการร้องเรียนมายังจังหวัดลำปาง ว่าในพื้นที่ อ.แม่เมาะ บางโรงเรียนมีสัดส่วนครูกับนักเรียน 1 ต่อ 3-4 คน แต่อำเภออื่นมีสัดส่วน 1 ต่อ 13-14 คน และมีครูบางคนร้องเรียนว่าได้ลงนามหรือเซ็นในสัญญาจ้างให้ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท แต่กลับได้รับจริงเพียง 9,000 บาท แล้วเงินส่วนนั้นหายไปไหน ซึ่งยังไม่มีคำตอบ ดังนั้นเรื่องนี้กำลังมีการสืบสวนในทางลับไปถึงคนที่เกี่ยวข้องอยู่ ตนจึงไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้มาก
ผู้ว่าฯ หมูป่ากล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่มีผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งไปรับปากกับบรรดาครูอัตราจ้างว่าให้รับสอนเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันไปก่อนแล้วจะออกใบรับรองประกอบวิชาชีพ 3 ปีให้ เพื่อให้สามารถนำไปสอบบรรจุราชการได้ ลักษณะเหมือนการสมยอมกัน และขบวนการเหล่านี้ถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด
กระทั่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็พบว่าอำนาจในการตรวจสอบเป็นของส่วนกลาง ไมใช่อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ปรากฏว่าแทนที่จะดำเนินการทางส่วนกลางกลับกำหนดกติกาใหม่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 โดยไม่ได้แจ้งจังหวัดให้มีการกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม คือ ผู้แทนประชาชน ผู้แทนภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ จากนั้นจึงแจ้งให้จังหวัดให้จัดหาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ช่วงนั้นมีเรื่องร้องเรียนอีก 12 อำภอ ว่าการอนุมัติเงินอุดหนุนให้คนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะให้กับ อ.แม่เมาะ เพียงอำเภอเดียวเป็นการอนุมัติที่ผิดกฎหมาย
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางกล่าวด้วยว่า กฎหมายระบุว่าการให้เงินชดเชยจะถูกกฎหมาย เมื่อให้แก่ผู้ที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร แต่การร้องเรียนครั้งนี้ระบุว่ามีการให้แก่ผู้ที่อยู่เกิน 5 กิโลเมตร จึงสงสัยว่าจ่ายในรัศมีเกินได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม มีข้อกำหนดว่าหากจ่ายให้ผู้อยู่นอกรัศมี 5 กิโลเมตร ก็ต้องมีการวิจัยที่เป็นหลักฐานว่าได้รับผลกระทบและมีการทำประชาคม ปรากฏว่ากรณีนี้มีคนจากอำเภออื่นร้องเรียนเข้าไปว่า..ไม่เคยมีการทำประชาคมสอบถามพวกเขาเลย ทั้งๆ ที่พวกเขาได้รับผลกระทบมากกว่า อ.แม่เมาะ เสียอีก
โดยเฉพาะ อ.เมืองลำปาง และ อ.แม่ทะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ อ.แม่เมาะ พบว่าเมื่อมีมลพิษซึ่งเกิดขึ้นมากในฤดูหนาวจะมีลมพัดจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยบ่งชี้ว่าปี 2562 คน อ.เมืองลำปางป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจกว่า 80,000 ราย ซึ่งมากกว่า อ.แม่เมาะเสียอีก ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมควรอุดหนุนงบประมาณให้แก่ชาว อ.เมืองลำปาง และ อ.แม่ทะ ด้วยเช่นกัน
นายณรงค์ศักดิ์กล่าวอีกว่า และการที่ตนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดของทั้ง 13 อำเภอ จึงต้องดูแลทั้งหมด เมื่อนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านอีก 2 อำเภอใหญ่ดังกล่าวร้องเรียนมายังจังหวัดฯ ตนจึงส่งเรื่องไปให้ส่วนกลางพิจารณาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่ปรากฏว่าทางส่วนกลางไม่เคยให้คำตอบ ขณะที่ตนต้องถูกกดดันจากทุกอำเภอว่าไม่เป็นธรรมที่อำเภอไม่ได้งบอุดหนุน
“มีการจัดงบอุดหนุนเฉพาะ อ.แม่เมาะเพียงอำเภอเดียวปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณพัฒนาทั้งจังหวัดในปี 2564 นี้เหลือแค่ประมาณ 140 ล้านบาท รวมทั้ง อ.แม่เมาะได้รับงบอุดหนุนนี้มานานกว่า 20 ปี ซึ่งเงินกว่า 20,000 ล้านบาทหากใช้อย่างถูกต้องตรงตามระเบียบและพัฒนาอย่างยั่งยืน ตนรับรองว่าจะทำให้เจริญรุ่งเรืองแน่นอน”
นายณรงค์ศักดิ์กล่าวด้วยว่า มีการทำผิดกฎหมายแทบทุกประการ โดยลำพังการจ่ายเงินก็ผิดแล้ว ขณะที่ชาว อ.เมืองลำปาง และ อ.แม่ทะ ที่อยู่ใกล้กันได้รับผลกระทบ แต่พื้นที่ทางตอนเหนือรับไปเฉลี่ยกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งสงสัยว่าเอาไปไหนกันหมด ตนเคยสอบถามคนแม่เมาะที่แท้จริง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ที่เขามีความยุติธรรมหรือแฟร์จริงๆ ทราบว่าเงินมันสูญไปหมดทำให้พวกเขาเบื่อหน่าย เพราะไปอยู่กับแกนนำเพียงไม่กี่คน ซึ่งเป็นเหตุให้มีเรื่องร้องเรียนกันตลอด
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ก็ไม่เคยพูดตำหนิคนเหล่านี้ โดยพยายามจะเชื่อมโยงและทำทุกอย่างเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม ขณะที่ส่วนกลางก็ไม่เคยตอบว่าจะให้ชาว อ.เมืองลำปาง และ อ.แม่ทะ ด้วยหรือไม่ แต่กลับให้จังหวัดรีบสรรหาคณะกรรมการ
ซึ่งทางจังหวัดดำเนินการให้ตามขั้นตอนของกฎหมายด้วยการคัดเลือกผู้สมัครจำนวน 29 ราย ให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดในระเบียบข้อ 16 เช่น ต้องไม่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ จนได้จำนวน 6 คน และเสนอให้ส่วนกลางไปนานแล้ว นอกจากนี้ยังคัดเลือกอีก 2 คนเป็นกำนันในพื้นที่ อ.เมืองลำปาง และ อ.แม่ทะ ซึ่งก็เป็นโควตาของผู้ว่าราชการจังหวัดและจะตั้งตัวเองก็ได้ แต่ทางส่วนกลางกลับแจ้งว่า..การแจ้งชื่อทั้ง 2 คนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่ฝ่ายกฎหมายของจังหวัดระบุว่าถูกต้อง
“สาเหตุที่ผมเลือกทั้ง 2 คนตามโควตาผู้ว่าฯ เข้าไปเพื่อให้ไปรับฟัง ต่อสู้และเรียกร้องสิทธิของคนอีก 12 อำเภอ โดยเฉพาะประชากรกว่า 80,000 คนใน อ.เมืองลำปาง ที่ได้รับความเจ็บป่วยแต่กลับไม่เคยได้รับชดเชย เช่น นักเรียนโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยในเขต อ.เมืองลำปาง ที่ไม่มีครูสอนพิเศษในอัตรา 1 ต่อ 2-3 คน ฯลฯ”
ผู้ว่าราชการ จ.ลำปางเปิดเผยในตอนท้ายว่า ที่ผ่านมามีเรื่องที่จับผิดได้แล้ว แต่ไม่เคยมีการสอบสวน เช่น เครื่องเล่นกีฬานักเรียน แต่นักเรียนกลับไม่เคยได้เล่น และไม่ปรากฏครุภัณฑ์ ตู้ยามูลค่า 50,000 บาท แต่กลับซื้อมากว่า 100,000 บาท ปั๊มน้ำมูลค่า 70,000-80,000 บาท แต่กลับซื้อในราคากว่า 140,000 บาท ฯลฯ ซึ่งทางผู้ว่าราชการ จ.ลำปางเคยแจ้งให้ คพรฟ.แต่ไม่เคยได้รับรายงานว่ามีการสอบสวนเลย ซึ่งเรื่องเหล่านี้คนในจังหวัดรู้ แต่ไม่อยากพูดเพราะไม่อยากไปกระทบหม้อข้าวคน อ.แม่เมาะ
สรุปแล้ว..กรณีปัญหาเงินเดือนครูอัตราจ้างดังกล่าวเป็นอำนาจของส่วนกลาง ซึ่งไม่เกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่ได้อำนาจใดๆ เพราะแม้แต่การเสนอชื่อคณะกรรมการเข้าไปจำนวน 6 คน และ 2 คนดังกล่าว ส่วนกลางยังแจ้งว่า 2 คนหลังนั้น..ผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ ทางส่วนกลางยังแก้ปัญหาได้ด้วยการจัดประชุมคณะกรรมการได้เลย เพราะระเบียบข้อ 20 ระบุว่าถ้าครบ 3 ภาคส่วน คือ ภาคประชาชน ภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้สามารถจัดประชุมได้ ดังนั้นกรณีกรรมการที่เป็นตัวแทนภาครัฐจำนวน 8 คนนั้น หากเหลือ 6 คนก็ยังสามารถจัดประชุมได้ โดยอำนาจจัดการประชุมอยู่ที่ กกพ. ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัด
“เรื่องเหล่านี้ผมเห็นว่าครูบางคนไม่รู้ ซึ่งผมรู้สึกเห็นใจมาก แต่ก็เชื่อว่าบางคนรู้ และยินยอมให้มีการว่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท แต่รับเงินจริงเพียง 9,000 บาท เพื่อหวังนำประสบการณ์ไปสอบบรรจุราชการ ซึ่งก็เป็นคำถามว่าเป็นธรรมกับคนอื่นหรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผมจะไม่พูดถ้าไม่มาถามแบบนี้”