ท่าขี้เหล็ก - สาวไทยตกค้างกลางโควิด-19 ระบาดท่าขี้เหล็ก ยันชัดขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติรับนำพาข้ามแดนแลกหัวคิวทั้งไป-กลับคนละ 11,000-15,000 บาท นั่งเครื่องลงเชียงรายเสร็จมีรถตู้รอรับนำส่งชายแดน เครือข่ายรับช่วงส่งข้ามฝั่งทั้งทางบก ทางน้ำ
กรณีคนไทยตกค้างอยู่ในท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ตรง อ.แม่สาย จ.เชียงราย แจ้งขอความช่วยเหลือนำพากลับไทยตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค.64 กลายเป็นประเด็นให้สังคมสงสัยถึงกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ โดยเฉพาะหญิงสาวที่ไปทำงานในสถานบันเทิงหัวเมืองชายแดนฝั่งประเทศเพื่อนบ้านห้วงที่ไทยและเมียนมาปิดพรมแดนตลอดแนวเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19
แต่จากคำบอกเล่าของหญิงสาวที่อยู่ในขบวนการหลายคนต่างพูดตรงกันว่า พวกเธอเดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาคของไทย บางคนนั่งเครื่องบินมาลงเชียงราย และมีขบวนการนำพาไปส่งถึงชายแดน จัดหาที่พักก่อนพาข้ามพรมแดนไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีกลุ่มคนข้ามมารับและส่งจนถึงที่หมายพร้อมสรรพ
ชายแดนไทย-เมียนมาด้าน จ.เชียงราย มีระยะทางประมาณ 310 กิโลเมตร ที่ติดกับ จ.ท่าขี้เหล็ก เป็นเขตชุมชนเมืองที่มีบ้านเรือนหนาแน่น และมีเพียงลำน้ำสาย ซึ่งเป็นลำน้ำสายเล็กๆ กว้าง 10-20 เมตร ทั้งแคบและตื้นเป็นพรมแดน ตลอดแนวมีทั้งชุมชนชายแดน ป่าเขา นาข้าว และไร่ข้าวโพด ท้ายน้ำสายบรรจบกับลำน้ำแม่มะในฝั่งไทย และกลายเป็นแม่น้ำรวกไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
นับตั้งแต่มีการปิดพรมแดนป้องกันโควิด-19 ทหารกองกำลังผาเมือง กองทัพภาคที่ 3 ได้เสริมกำลังสนับสนุนหน่วย ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมืองอย่างเต็มที่ คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย ที่มีผู้ว่าฯ เชียงรายเป็นประธานก็ระดมกำลัง กอ.รมน.ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร เข้าปิดช่องโหว่ต่างๆ รวมทั้งตั้งจุดตรวจจุดสกัดภายในอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมคนลักลอบไปและกลับ รวมทั้งสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมายได้หลายครั้ง
แต่ด้วยข้อจำกัดของภูมิประเทศทำให้การลักลอบข้ามแดนทั้งเข้าออกปรากฏให้เห็นต่อเนื่อง
หญิงสาวที่เคยทำงานที่กรุงเทพฯ อายุ 18 ปี ผู้ซึ่งลักลอบข้ามพรมแดนได้กลับมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า เดิมทำงานเป็นผู้จัดการร้านทำเล็บที่กรุงเทพฯ แต่ร้านปิดกิจการเพราะโควิด-19 เจ้าของร้านบอกให้ไปอยู่สาขาระยอง แต่ปฏิเสธและตัดสินใจไปทำงานที่ท่าขี้เหล็ก เนื่องจากมีรุ่นพี่และเพื่อนเคยทำงานอยู่ที่โรงแรมวันจีวัน และท่าขี้เหล็กโฮเทล
โดยได้หลบหนีข้ามฝั่งไปตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ขณะนั้นสถานบันเทิงในท่าขี้เหล็กยังเปิดอยู่ แต่ทำงานได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ก็เริ่มมีคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ที่ทำงานมีคนติดเชื้อ 30-40 คน จากทั้งหมดประมาณ 50 คน แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาไม่มีคนไทย ส่วนพวกตนถูกสั่งให้กักตัวอยู่แต่ในห้องพักห้ามออกไปไหนเด็ดขาด จึงพากันยื่นขอกลับไทย โดยตนลงทะเบียนของกลับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. แต่ก็ยังไม่ได้กลับ
หญิงสาวเล่าอีกว่า การไปท่าขี้เหล็กต้องติดต่อตัวแทนพาลอบข้ามแดน ต้องจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า 11,000 บาท บางคนจ่ายหัวละ 15,000 บาท บางคนก็ขอให้ไปหักเอาจากเงินเดือนที่จะได้ กรณีตนได้นั่งเครื่องจากกรุงเทพฯ ไปพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.แม่สาย แต่ยังไม่ได้ข้ามไปเมียนมาทันทีเพราะฝนตกหนักทำให้ระดับน้ำจุดที่จะข้ามฝั่งยังสูง คนรับส่งแจ้งว่าจะไปก็ได้ถ้าว่ายน้ำเป็น ซึ่งตนได้ปฏิเสธเพราะกลัวจะเอาชีวิตไปทิ้ง จึงต้องพักรอที่โรงแรมและต้องจ่ายค่าห้องเองคืนละ 500 บาท ไม่รวมค่ากินอยู่อื่นๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนกระเป๋าเดินทางนั้นถูกส่งไปถึงท่าขี้เหล็กก่อนตัวเราจะข้ามแล้ว ซึ่งต้องจ่ายค่าขนใบละ 1,500 บาท
“ช่วงที่จะข้ามไปถูกเรียกให้ตื่นตอนตี 4 ตี 5 แล้วเขาก็พานั่งรถเข้าไปในป่าแห่งหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าที่ไหน แต่ดูเหมือนเป็นป่าข้าวโพด แล้วเขาจะพาข้ามลำน้ำ ซึ่งแคบนิดเดียวก็ถึงฝั่งเมียนมาแล้ว และฝั่งโน้นมีทีมงานของเขามารับ ตอนจะข้ามนั้นไม่กลัวโดนจับหรอกแต่กลัวโดนงูฉกมากกว่า เพราะเขาให้เดินไปทีละคน ไม่ให้ตีคู่กันในตอนตี 4 ระยะทางก็คงราวๆ 1 กิโลฯ แล้วไปถึงริมน้ำจึงนั่งเรือข้ามฟากไปอีกเพียงไม่กี่เมตร ส่วนอีกฟากเป็นไร่เป็นนาเป็นสวนเหมือนกัน และนั่งรอรถ โดยมีคนเอาชุดมาเปลี่ยนเพื่อปลอมตัวเป็นชาวไร่ชาวสวน ซึ่งการเดินทางนี่โหดสุดๆ เหมือนกัน ยังคิดอยู่ว่าเอาชีวิตรอดมาได้อย่างไร”
หญิงสาวกล่าวด้วยว่า มีบางคนในกลุ่มที่ทนไม่ไหว เพราะเขามีธุระในฝั่งไทยจึงได้ลักลอบข้ามกลับมา โดยเขามาเล่าให้ฟังภายหลังว่าได้วิ่งลัดป่าอ้อยในเวลากลางคืนไปไกลมากและยังลัดทุ่งนา แต่ไม่น่าจะได้ข้ามน้ำเพราะหลังจากวิ่งข้ามป่าแล้วก็เข้าถึงเขตแดนประเทศไทยเลยท่ามกลางฝนที่ตกหนัก ซึ่งเขาก็เสียเงินค่าจ้างและค่าขนกระเป๋าข้ามไปรอเหมือนเดิม
เธอยังบอกด้วยว่า “คนที่ติดต่อเป็นคนไทยเอาแพงมาก เอเยนซีนี่รวยไม่รู้จะรวยอย่างไร เก็บเงินกับเด็ก ได้ค่าหัวแล้วยังได้เงินเดือนอีก ส่วนพวกหนูนั้นพอเงินเดือนจะออกบอร์ดจะโอนให้เอเยนซีก่อนและเอเยนซีจึงจะเอาไปให้เด็กอีกทีเพราะถือว่าเขาพาพวกเรามาให้บอร์ด ก็เหมือนตอนหนูอยู่ไทยคือเอเยนซีได้ค่าหัวคนละ 4,000-5,000 บาท และยังได้เงินเดือนอีก 50,000 บาท อย่างนี้นอนอยู่เฉยๆ ก็รวยแล้ว”
ก่อนหน้านี้ กองกำลังผาเมืองได้จำแนกกลุ่มขบวนการพาคนลักลอบข้ามพรมแดนด้าน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ว่ามีอยู่ 11 กลุ่ม และเจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองได้หลายครั้งแต่ยังไม่มีข่าวว่าจับตัวผู้บงการใหญ่ได้ แต่ละคนที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่ให้การต่อเจ้าหน้าที่ว่าต้องเสียค่าจ้างให้ผู้นำพาหัวละ 15,000-17,000 บาท
สำหรับในพื้นที่ อ.แม่สาย เป็นที่ทราบกันดีว่ามีขบวนการขนคนข้ามแดนอยู่ 2-3 กลุ่ม แต่เป็นรายย่อยทำหน้าที่คอยพาคนข้ามฝั่ง เช่น กลุ่มแก้วท่าว้า ที่มีพฤติกรรมพาคนข้ามลำน้ำสายบริเวณซอยสายลมจอย ใกล้กับสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 แลกกับค่าข้ามคนละ 3,000-5,000 บาท กลุ่มนายจันทร์ ที่คิดเงินค่าจ้างคนละ 5,000-7,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เคยเรียกตัวทั้ง 2 กลุ่มไปตักเตือนให้เลิกทำไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากดูจากคดีจับกุมต่างๆ ที่ทหารกองกำลังผาเมืองจับกุมได้หลายครั้ง รวมทั้งวิเคราะห์ตามเส้นทางของหญิงสาวหลายราย ทำให้เห็นว่า ขบวนการค้าคนข้ามชาติยังคงมีอยู่และไม่ได้จำกัดเฉพาะคนในท้องถิ่น แต่เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลข้ามชาติ
ล่าสุด อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย ได้ยื่นหนังสือต่อนายเอกภพ เพียรพิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย เขต 1 พรรคก้าวหน้า ในฐานะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และนายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย เขต 6 พรรคก้าวหน้า ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร
หลังจากศูนย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มคนไทยอย่างน้อย 29 คนที่อยู่ในท่าขี้เหล็ก ต้องการความช่วยเหลือนำพากลับไทยเพราะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศเมียนมา ทำให้สถานที่ทำงานปิดตัว ต้องตกงาน แต่แจ้งผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง มาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 64 จนถึงขณะนี้ยังไม่ถูกส่งตัวกลับ ขณะที่ทุกคนยินดีเสียค่าปรับตามกฎหมายประเทศเมียนมา และเข้าสู่กระบวนการกักตัวของประเทศไทยด้วย
ดังนั้น จึงขอให้ กมธ.ทั้ง 2 คณะช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำพาคนไทยกลับ รวมทั้งขอให้ศึกษาและเสนอแนะนโยบาย แนวทาง รวมถึงมาตรการเรื่องการบริหารจัดการแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา มาเลย์ กัมพูชา ลาว ให้สามารถเดินทางข้ามแดนและได้รับอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย
นายพีรเดช กล่าวว่า เบื้องต้นจะนำส่งข้อมูลไปยังฝ่ายปกครองก่อน จากนั้นจะนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ รวมทั้งประสานกับคณะกรรมการชายแดนไทย-เมียนมาระดับท้องถิ่น หรือทีบีซีว่ามีข้อขัดข้องใด ทั้งนี้ ยืนยันว่ากรณีคนไทยตกค้างนั้นทางประเทศไทยไม่ได้ทอดทิ้ง แต่ปัญหาคือมีความล่าช้าในการส่งตัวกลับมา
นายเอกภพ กล่าวว่า ในระยะยาวการประสานงานเพื่อดูแลแรงงานไทยที่ข้ามไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการดูแลอย่างเป็นระบบ ทำให้มีการข้ามไปมาอย่างผิดกฎหมาย แต่ถ้าทำให้เข้าสู่ระบบที่ดีก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจชายแดน โดยเฉพาะในอนาคตเมื่อพ้นวิกฤตโควิด-19 ในส่วนของ กมธ.จะศึกษาข้อกฎหมายและรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปดำเนินการต่อไป
สำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในท่าขี้เหล็ก พบว่าเฉพาะห้วงเดือน ก.ค.-ส.ค.มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 1,748 ราย ล่าสุดมีชายอายุ 101 ปีติดเชื้อด้วย ถือเป็นผู้ป่วยที่มีอายุมากที่สุดตั้งแต่โควิด-19 ระบาดในท่าขี้เหล็ก นอกจากนี้ ยังพบชาวเมียนมาที่เดินทางกลับจากเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ สปป.ลาว จำนวน 276 คน ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 37 คน ขณะที่ภายใน จ.ท่าขี้เหล็กพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21 คน