xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วม ปชช.แสดงความเห็นเยียวยาผลกระทบจากหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.ผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ

วันนี้ (10 ส.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ว่า สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 178 วรรคสี่ บัญญัติให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีกรอบทางกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญา ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการดำเนินการดังกล่าว และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครม.จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการตรากฎหมายใหม่เพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 หมวด ได้แก่ หมวด 1 การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และหมวด 2 การเยียวยา มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. กำหนดให้ในการทำหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระยะเวลา 15 วันเป็นอย่างน้อย และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำหนังสือสัญญานั้น รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นแก่ประชาชน ก่อนเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบ

2. กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำหลักการหรือประเด็นสำคัญของหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางไปรับฟังความคิดเห็น โดยต้องประกาศวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็น หากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศหรือประชาชน หรือต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้เปิดเผยข้อมูลเท่าที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย

3. เมื่อหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางมีผลใช้บังคับแล้ว และการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง หากมีมาตรการเยียวยาไม่เพียงพอ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอแนะมาตรการเยียวยาที่จำเป็นต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ และเผยแพร่มาตรการดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้มีกรอบกฎหมายที่กำหนดวิธีการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือสัญญาบางประเภทและการเยียวยาที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นเครื่องสำคัญในการส่งเสริมให้การมีส่วนร่วมทางการเมือง และทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น