เชียงราย - ผอ.ส่วนการท่าฯ เชียงราย-นายกสมาคมท่องเที่ยวฯ สองสามีภรรยางัดเสน่ห์ปลายจวักก้นหีบเปิดครัวหลังบ้านตั้งโอ่งราชบุรีปั้นเมนูเด็ดสู้วิกฤต “เป็ด-หมูกรอบ-หมูแดง อบโอ่ง” ส่งขายดีลิเวอรีเสาร์/อาทิตย์ พร้อมกระจายผ่านเครือข่ายธุรกิจร้านอาหาร
สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงยาวนานยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้หลายสายการบินได้ยกเลิกเที่ยวบินระหว่าง จ.เชียงราย-สุวรรณภูมิ และเชียงราย-ดอนเมืองเป็นการชั่วคราว ทำให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องต่างพากันปรับตัว ทั้งเพื่อความอยู่รอดและช่วยเหลือคนในเครือข่าย
ล่าสุด นายวชิร เนตรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนรักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และนางนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์ นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นสามีและภรรยากัน ตัดสินใจเปิดครัวบ้านตัวเองภายในบ้านซอย 18 มิถุนา อ.เมืองเชียงราย เปิด “ครัวอบโอ่ง” รังสรรค์เมนูอาหารส่งขายดีลิเวอรีทุกวันเสาร์-อาทิตย์
“ครัวอบโอ่ง” มีเมนูหลักเป็นเป็ดอบโอ่ง หมูกรอบ หมูแดง และต่อยอดไปถึงแกงเผ็ดเป็ดอบโอ่ง แกงเขียวหวานเป็ด โดยนายวชิรทำหน้าที่เป็นพ่อครัวหลัก นำทุกคนในครอบครัวมาช่วยจัดเตรียมวัตถุดิบ-เครื่องปรุง และเช้าวันเสาร์ก็จะตื่นกันตั้งแต่เช้ามืดเพื่อจัดเตรียมเครื่องปรุง
จากนั้นนายวชิรก็จะนำเป็ดทั้งตัวลงอบในโอ่งมังกรนานประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง พอถึงช่วงสายก็จะได้เป็ดอบโอ่งที่หอมกรุ่นมาสับและบรรจุกล่องเพื่อส่งจำหน่ายให้ลูกค้าในเวลา 11.00 น. และ 16.00 น.ของทุกวันเสาร์และอาทิตย์
สามี-ภรรยาเจ้าของ “ครัวอบโอ่ง” ระบุว่า ลูกค้าส่วนใหญ่รู้ว่ามีเมนูนี้จากเพจ “ครัวอบโอ่ง” และเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นหลัก ช่วงแรกๆ ลูกค้าจะเป็นคนรู้จักที่ช่วยสนับสนุน ก่อนบอกต่อๆ กันไป จนตอนนี้ทำเป็ดอบโอ่งครั้งละ 20 ตัว ก็ขายหมดทุกครั้งเช่นเดียวกับหมูกรอบและหมูแดงที่ใช้การอบโอ่งก็ขายดีเช่นกัน
นางนงเยาว์กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคน สำหรับตนทำธุรกิจ 2-3 อย่าง แต่ธุรกิจหลักคือบริษัทนำเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้นตนจึงใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งที่เราได้รับผลกระทบคิดหาทางพลิกวิกฤตเป็นโอกาส และเห็นว่าควรทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร เพราะไม่ว่าสถานการณ์ใดคนเราจำเป็นต้องบริโภคอาหาร ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจอื่นที่ลูกค้าสามารถอดทน-เลื่อนเวลาที่จะทำได้ เช่น เดินทางท่องเที่ยว สวมใส่เสื้อผ้าที่สวยงาม ฯลฯ นอกจากนี้ครอบครัวของเราชอบทำอาหารกันอยู่แล้วจึงคิดทำอาหารจำหน่าย
จากนั้นก็มานั่งคิดเมนูที่เห็นว่าหารับประทานได้ยากในท้องถิ่น ดังนั้นเราจึงทำ “เป็ดอบโอ่ง” เพราะในเชียงรายมีน้อยมากหรืออาจจะเป็นเจ้าเดียวที่นำทั้งเป็ด หมูกรอบ หมูแดง ลงอบในโอ่ง ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก ตนจึงขยายผลไปยังเครือข่ายของสมาคมฯ คือชมรมร้านอาหารที่มีนางนิภาพร วิสุทธิแพทย์ เจ้าของร้าน Kichi by อร่อย 108 แม่สาย เป็นประธานฯ ซึ่งก็รับเป็ดอบโอ่งไปปรุงเป็นแกงเผ็ดเป็ดอบโอ่ง แกงเขียวหวานเป็ด และร้านนี้ยังมีน้ำจิ้ม พริกแกง ฯลฯ ที่สามารถเชื่อมโยงธุรกิจกันได้อีกด้วย
ด้านนายวชิรกล่าวว่า ปกติตนชอบทำอาหารอยู่แล้วและมักทำบุญตามงานบุญต่างๆ รวมทั้งยังทำโรงทานภายในแผนกที่ทำงานเป็นประจำทุกปี เมื่อมีวิกฤตจึงได้ทดลองทำอาหารหลายอย่างทั้งจากหมู วัว ฯลฯ สุดท้ายก็มาลงเอยที่เป็ดอบโอ่งเพราะที่เชียงรายหาซื้อแทบไม่ได้หรือผู้คนมักคิดว่าหาชิมได้เฉพาะตามภัตตาคารหรูๆ เท่านั้น ดังนั้นจึงได้ยึดเป็นเมนูหลัก
สำหรับ “เป็ดอบโอ่ง” ไม่ได้ทำง่ายอย่างที่คิด ต้องใช้ความอดทนสูง ต้องสั่งจองล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ เริ่มต้นจากวันจันทร์ที่สั่งเป็ด ราคาตัวละ 200-300 บาท จากนั้นจะได้รับการยืนยันในวันพุธและได้เป็ดมาปรุงในวันศุกร์ โดยตนจะใช้สูตรเครื่องเทศหมักไก่ของแม่ยายมาใช้ในการอบเป็ด ซึ่งพบว่าได้รสชาติดีมาก เคล็ดลับคือต้องอบในโอ่งมังกรจาก จ.ราชบุรี เมื่อแล้วเสร็จก็จำหน่ายได้ตัวละ 480-500 บาท แต่ก็แบ่งขายเป็นกล่องเช่นเดียวกับหมูกรอบ และหมูแดงด้วย