เชียงใหม่ - ศูนย์บัญชาการสถานการณ์โควิด-19 เชียงใหม่สรุปผลการดำเนินงานปิดโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง กำชับประชาชนเคร่งครัดมาตรการการป้องกัน ย้ำคนเข้าจากต่างพื้นที่ต้องลงทะเบียน CM-CHANA พร้อมวอนพร้อมใจสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีน
วันนี้ (14 มิ.ย. 64) ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, นายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ และนายแพทย์ อำพร เอี่ยมศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่วาง ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ระลอกเดือนเมษายน และผลการดำเนินงานโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่
ทั้งนี้ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่กล่าวถึงมาตรการควบคุมผู้เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า สืบเนื่องจากข้อมูลในช่วงหลังมานี้จะพบว่าการแพร่ระบาดเกิดจากผู้ที่เดินทางจากพื้นที่สีแดงเข้ม และเกิดการแพร่ระบาดในชุมชนหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้ที่อำเภอไชยปราการและอำเภอสันทราย ดังนั้นทางศูนย์ปฏิบัติการอำเภอทั้งสองอำเภอกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง หากปรากฏว่าผู้ที่เดินทางเข้ามาไม่ลงทะเบียนผ่านทางระบบ CM-CHANA และเจ้าบ้านไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด จะต้องมีการลงโทษตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ตาม ผู้เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจะต้องบันทึกข้อมูลลงในแอปพลิเคชัน CM-CHANA ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ และระหว่างที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับแจ้งตาม SMS จากระบบ CM-CHANA
ส่วนกรณีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือย้ายมาปฏิบัติราชการ นักเรียน/นักศึกษา นักท่องเที่ยว พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ต้องมีการกักกันตัวเองเป็นเวลา 14 วัน และสำหรับผู้ที่เดินทางมาปฏิบัติราชการหรือติดต่อราชการ ทำธุรกิจ ในระยะเวลาสั้นๆ รวมถึงพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ รถส่งสินค้า ที่ไม่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ต้องถูกคุมตัวไว้สังเกตอาการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ด้วย
ขณะที่ ดร.ทรงยศเปิดเผยว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเป็น 4,120 ราย รักษาหายแล้ว 4,053 ราย คิดเป็นร้อยละ 98 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ยังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภทจำนวน 41 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลรัฐ 38 ราย โรงพยาบาลเอกชน 3 ราย โดยในวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมของจังหวัดเชียงใหม่ยังอยู่ที่ 26 ราย ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 23 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 13 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 4 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) 1 ราย
สำหรับการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และผู้สัมผัส เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย. 64) ทำการตรวจทั้งหมด 607 ราย พบผู้มีผลบวก 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.16 สำหรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง สัปดาห์นี้จะเริ่มการสุ่มตรวจหาสารพันธุกรรมทางน้ำลายในแคมป์แรงงานต่างด้าวทั่วจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 750 ตัวอย่าง ผลจะนำมาแจ้งให้ทราบในวันต่อไป ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ยังไม่คงที่ เนื่องจากผู้ป่วยรายใหม่เริ่มน้อยลง ส่วนใหญ่ยังพบสาเหตุจากการสัมผัสในครอบครัว การนำเข้า และสัมผัสในสถานที่ทำงาน ด้านการเฝ้าระวังคลัสเตอร์ต่างๆ ไม่พบคลัสเตอร์ใหม่ และมีคลัสเตอร์ที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีก 1 คลัสเตอร์ คือ คลัสเตอร์บ้านสันจิกุ่ง ตำบลทุ่งต้อม อำเภอสันป่าตอง มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพียง 3 คลัสเตอร์ โดยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มา 12 วันแล้ว
โดยไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 1 รายนั้น เป็นลูกจ้างของ CM4199 เป็นชายไทย อายุ 53 ปี ได้เดินทางไปหาภรรยาที่จังหวัดปทุมธานี และเดินทางกลับมายังจังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่ได้สแกน CM CHANA วันที่ 7 มิ.ย. 64 ไปไซต์งานก่อสร้างย่านโรงพยาบาลกรุงเทพฯ-เชียงราย วันที่ 8 มิ.ย. 64 ทราบผลภรรยาที่อยู่ปทุมธานีติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 9 มิ.ย. 64 เริ่มมีอาการ วันที่ 10 มิ.ย. 64 เดินทางกลับมายังจังหวัดเชียงใหม่ กระทั่งวันที่ 12 มิ.ย. 64 ทราบว่านายจ้างติดเชื้อโควิด-19 จึงได้รับการติดตามเข้ามาตรวจ ซึ่งผลการตรวจพบเชื้อเป็นโควิด-19 และจากการติดตามผู้สัมผัสทั้งหมด 3 ราย พบผลลบ 2 ราย ผลบวกอีก 1 ราย คือนายจ้าง
ดังนั้นขอย้ำเตือนทุกคน การ์ดอย่าตก แม้สถานการณ์ภายในจังหวัดมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามยังคงต้องรักษาระยะห่าง งดเว้นการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะด้วยสถานการณ์ในขณะนี้ จังหวัดเชียงใหม่ยังไม่ได้มีการผ่อนคลายมาตรการการจัดกิจกรรมการรวมกลุ่มกันไม่เกิน 50 คน หากหน่วยงานใดมีความจำเป็นต้องจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 50 คนขึ้นไป จะต้องขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ก่อนทุกครั้ง ในส่วนของพี่น้องประชาชนขอให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล และร่วมใจกันฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ให้มากกว่าร้อยละ 70 ของประชากร หรือประมาณหนึ่งล้านสี่หมื่นกว่าคน เพื่อเป็นกำแพงสกัดกั้นโรคให้คนเชียงใหม่ ซึ่งยอดการจองคิวฉีดวัคซีนของคนเชียงใหม่ 196,571 รายแล้ว ในส่วนของยอดการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 7-13 มิ.ย. 64 ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 49,038 ราย ถ้ารวมตั้งแต่เดือนเมษายน ประชาชนเชียงใหม่ฉีดวัคซีนรวมแล้ว 125,855 ราย
ด้านนายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ภายหลังจากจบสิ้นภารกิจการดำเนินการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลสนามในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ตามมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 64 และทางคณะกรรมการฯ ก็ได้คืนพื้นที่ให้กับเรือนจำกลางฯ เพื่อดูแลผู้ป่วยตามปกติ โดยตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 64 ทางโรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่ไม่พบผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ยังคงมีเพียงผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการรักษาตัวให้ครบตามกำหนดเพียง 14 คนเท่านั้น และในวันนี้ (14 มิ.ย. 64) ผู้ป่วยทั้งหมดก็รักษาตัวจนครบตามกำหนดและหายเป็นปกติแล้ว ทำให้ขณะนี้ภายในเรือนจำกลางฯ เป็นพื้นที่สีขาว ปราศจากการติดเชื้อแบบ 100%
ทั้งนี้ วันนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ทีมแพทย์ พยาบาล และคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ทำการปิดโรงพยาบาลสนามในเรือนจำกลางเชียงใหม่อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว โดยห้วงเวลาต่อจากนี้อีก 14 วัน จนถึงวันที่ 29 มิถุนายน จะได้ทำการเฝ้าระวัง หากไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาอีก ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังหรือเจ้าหน้าที่ ก็ถือว่าเรือนจำกลางเชียงใหม่ได้ปฏิบัติตามแผน Exit Plan หรือการออกจากสถานการณ์ภายในเรือนจำที่ไม่มีการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผู้ต้องขังกว่า 6 พันชีวิตก็จะสามารถใช้ชีวิตภายในเรือนจำได้อย่างปกติ นอกจากนี้ เมื่อกรมราชทัณฑ์ได้ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ แล้ว ทางเรือนจำกลางเชียงใหม่ก็จะเปิดโอกาสให้ครอบครัวและญาติของผู้ต้องขัง สามารถเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังได้ โดยขอให้ติดตามข้อมูลได้ทั้งทางโทรศัพท์และเพจเฟซบุ๊กของเรือนจำต่อไป
ส่วนนายแพทย์ อำพร เอี่ยมศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่วาง ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ เผยถึงผลของการดำเนินงานในโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ ว่าในภาพรวมของโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้ได้ทำการปิดลงแล้วเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการส่งผู้ป่วย 2 รายสุดท้ายที่รักษาหายแล้วกลับบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหลังจากนี้จะดำเนินการทำความสะอาดพื้นที่ ทั้งการพ่นฆ่าเชื้ออุปกรณ์การแพทย์ เพื่อเตรียมส่งคืนกลับไปยังโรงพยาบาลที่ให้การสนับสนุน ซึ่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน จะมีการเคลียร์พื้นที่เพื่อให้เข้าสู่สภาวะปกติ
จากนั้นต้นเดือนกรกฎาคมจะมีการคืนพื้นที่ให้กับศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ต่อไป และคงโรงพยาบาลสนามไว้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 เพื่อความไม่ประมาท ส่วนอัตรากำลังทั้งแพทย์และพยาบาล จะกลับไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลต้นสังกัด แต่หากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นมาอีกครั้ง ก็สามารถเรียกเจ้าหน้าที่ทุกคนกลับมาปฏิบัติงานได้ภายใน 1-2 วัน ในส่วนของรับบริจาคและของที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนนั้น ทางโรงพยาบาลสนามและจังหวัดเชียงใหม่ จะได้มีการดำเนินการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป