xs
xsm
sm
md
lg

“สะแกกรัง” แล้งกลางฝนซ้ำ ระดับน้ำแห้งเดินข้ามได้-เรือนแพเสี่ยงพัง ปลากระชังเลี้ยงไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทัยธานี - แม่น้ำสะแกกรังแล้งกลางฝนซ้ำอีก..ล่าสุดระดับน้ำบางจุดแห้งจนคนเดินข้ามได้เหมือนปลายปี 63 ชาวแพต้องลากเรือนแพหาร่องน้ำกันลูกบวบพังเสียหาย-ปลาเสี่ยงตายยกกระชัง บางรายต้องตักออกหาแหล่งน้ำใหม่กันวุ่น


วันนี้ (6 มิ.ย. 64) “แม่น้ำสะแกกรัง” ที่ไหลผ่านเขต อ.เมืองอุทัยธานี เริ่มกลับมาแห้งขอดตลอดสายจนสามารถเดินข้ามฝั่งได้ในบางจุดอีกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณจุดตรงข้ามกับวัดพิชัยปุรณาราม ต.อุทัยใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำแห้งมากที่สุด สามารถมองเห็นเนินดินตรงกลางที่เคยเป็นลำน้ำ และสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาได้แล้ว ส่วนบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด และลานสะแกกรัง ตรงข้ามกับวัดอุโปสถาราม หรือวัดโบสถ์นั้น ก็พบว่าน้ำเริ่มลดแห้งลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงร่องกลางแม่น้ำเท่านั้น

สภาพลำน้ำสะแกกรังที่แห้งขอดแบบนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา แต่ชาวแพสะแกกรังส่วนใหญ่ต่างบอกว่าน้ำแห้งในครั้งนี้หนักกว่าครั้งที่ผ่านมา หรือเรียกว่าเข้าขั้นวิกฤตก็ว่าได้ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเรือนแพและกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังต่างได้รับความเดือดร้อน ทั้งจากที่ลูกบวบเรือนแพพังเสียหาย และไม่สามารถเลี้ยงปลากระชังได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ชาวแพต่างพยายามลากเรือนแพของตนเองไปไว้ในจุดที่ยังพอจะมีแอ่งน้ำขังอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงลูกบวบเรือนแพให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด เนื่องจากการเปลี่ยนลูกบวบเรือนแพแต่ละครั้งนั้นต้องใช้เงินมากถึง 2-3 หมื่นบาท


นางจันทคนธ์ จรัสศรี อายุ 77 ปี ชาวแพชุมชน 7 (จุดตรงข้ามวัดพิชัยปุรณาราม) ซึ่งเป็นจุดที่น้ำแห้งขอดมากที่สุด เล่าว่า แม่น้ำสะแกกรังแห้งขอดมานานกว่า 15 วันแล้ว ซึ่งตั้งแต่อยู่มา 70 กว่าปีก็เพิ่งเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้เหมือนกัน เรียกได้ว่าครั้งนี้หนักที่สุด

“ตอนนี้ลูกบวบเรือนแพก็เสี่ยงที่จะเสียหาย ซึ่งการเปลี่ยนลูกบวบต่อครั้งต้นทุนไม้ไผ่ก็อยู่ที่ลำละ 60 บาท ค่าช่างซ่อมแซมต่อครั้งก็ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ส่วนปลากระชังที่ฉันเลี้ยงไว้ก็กลัวว่าจะไม่รอด จึงต้องตัดสินใจให้หลานมาตักออกไปเพื่อไม่ให้ปลาตายจนหมด” นางจันทคนธ์กล่าว

ด้านนายจเร ปรีดารัตน์ อายุ 66 ปี ชาวแพที่อาศัยอยู่ใกล้กัน เล่าว่า สาเหตุที่ทำให้น้ำแห้งขอดเช่นนี้ทราบมาว่าเป็นเพราะน้ำในจุดดึงที่จะดึงน้ำจากเจ้าพระยาเข้าแม่น้ำสะแกกรังนั้นต่ำกว่าจนไม่สามารถดึงน้ำเข้ามาได้ จึงทำให้ไม่มีน้ำไหลผันเข้ามาจนแม่น้ำสะแกกรังแห้งขอดอย่างที่เห็น ซึ่งก็มีทางเทศบาลเมืองอุทัยธานีลงพื้นที่เข้ามาดูก็บอกว่าจะนำเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

“ตอนนี้แพแต่ละหลังรวมไปถึงกระชังปลาก็เดือดร้อนกันมาก ลูกบวบก็เริ่มที่จะพังเสียหาย ซึ่งแพหนึ่งหลังถ้าพังเสียหาย อย่างต่ำต้องใช้ไม้ไผ่มาเปลี่ยน 240-300 ลำ ต้นทุนต่อลำอยู่ที่ลำละ 60 บาท ยังไม่รวมค่าช่างอีก”








กำลังโหลดความคิดเห็น