"อดีตนักดนตรี" ตกงาน จว.เชียงใหม่ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพ่อหลวงร.9 น้อมนำศาสตร์พระราชาต่อยอดความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ฯ พัฒนาบ้านเกิดเลี้ยงชีพจนหลุดพ้นจากวิกฤตโควิด-19 ระบาด 3 รอบ
นายสาธิต เลิศสุวรรณ์ อายุ 57 ปี อดีตอาชีพนักดนตรีในสถานบันเทิงและร้านอาหารในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 จากมาตราการการหยุดเคลื่อนไหวของสังคมเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ตนมีรายได้เลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างเล่นดนตรี แต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เหมือนกับคนอื่น ๆ เมื่อร้านอาหารปิดกิจการรายได้ก็หายไป จึงกลับบ้านที่อ.ดอยสะเก็ด จว.เชียงใหม่ โดยที่บ้านมีที่ดินอยู่ 5 ไร่ และจากที่ตนมีความคุ้นเคยจากการเป็นลูกชาวนา จึงได้นำสิ่งที่เรียนรู้นั้นมาต่อยอด แต่เนื่องจากพ่อแม่ทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวด้วยการทำนาเพียงอย่างเดียว บางปีราคาผลผลิตต่ำจึงทำให้รายได้ไม่คุ้มการลงทุน ขณะเดียวกันได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมการประกอบอาชีพแบบผสมผสานจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้มีการจัดตั้งขึ้น เพื่อทำการศึกษา ทดลอง และค้นคว้าการพัฒนาการผลิตด้านต่างๆ และตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมในเขตภาคเหนือ
ดังนั้นตนจึงได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงด้วยการพัฒนาที่นาให้สามารถเพาะปลูกพืชได้อย่างหลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยแบ่งพื้นที่ 5 ไร่ เป็นแปลงปลูกข้าว ขุดสระน้ำเพื่อเก็บกักน้ำและปล่อยปลา โดยสร้างกระชังปลาเพื่ออนุบาลลูกปลาก่อนปล่อยทำให้อัตราการรอดสูง ส่วนที่ว่างรอบบ้านที่อยู่อาศัยสร้างบ่อเลี้ยงปูนาเลี้ยงกุ้งฝอย ในพื้นที่ปลูกไม้ให้ผล สร้างคลองไส้ไก่เพื่อให้ระบบน้ำไหลเวียนภายในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อความชุ่มชื้นของหน้าดิน ส่วนในคลองก็เลี้ยงหอย ปลากินพืช ตามแนวคลองก็ทำแปลงพืชผักสวนครัว ภายในแปลงปลูกพืชให้ผลสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด
นอกจากนี้ภายในพื้นที่อยู่อาศัยได้สร้างอาคารสำหรับอยู่อาศัย และร้านอาหาร เพื่อให้บริการจำหน่ายกับบุคคลทั่วไป ซึ่งจะเป็นร้านอาหารที่นำปัจจัยพื้นฐานในการถนอมอาหารมาจากแปลงปลูกภายในพื้นที่ เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนในการประกอบการอีกทางหนึ่ง และเป็นการเตรียมการรองรับการประกอบอาชีพเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที
“ตั้งแต่การระบาดรอบแรกมาจนถึงรอบที่ 3 พบว่าการดำรงชีพและการใช้ชีวิตไม่กระทบกระเทือนแต่ประการใด ยังมีข้าวปลาอาหารให้มีกิน และมากพอที่นำออกแจกจ่ายแบ่งปันเพื่อนบ้าน แถมมีพอที่จะนำออกขายเป็นรายได้ให้ครอบครัวอีกด้วย “
นายสาธิตกล่าวว่า ตนขอน้อมสำนึกในพระคุณพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานศาสตร์พระราชาเพื่อการทำกินอย่างยั่งยืนที่อยู่คู่กับแผ่นดินไทย ทุกคนสามารถน้อมนำไปปฏิบัติใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ สามารถเรียนรู้พร้อมปฏิบัติจริงจนทำเองได้ อบรมเสร็จทางศูนย์ฯ ยังมอบปัจจัยการผลิตพื้นฐานให้ทุกคน เพื่อนำไปดำเนินการในพื้นที่ของตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน นอกจากอบรมเรื่องการจัดการดิน การจัดการพื้นที่และการปลูกพืชแบบผสมผสานแล้วตนยังสนใจเรื่องการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ จึงเข้าอบรมเพิ่มเติมอบรมเสร็จรับลูกไก่มา 30 ตัว ก็เลี้ยงจนโตแล้วขายเอาเงินเหลือไว้ 6 ตัว เพื่อขยายพันธุ์ต่อจวบจนตอนนี้ได้ลูกไก่หลายครอกแล้ว ที่ดียิ่งกว่านั้นทางเจ้าหน้าที่จากศูนย์ จะเดินทางมาเยี่ยมและให้คำแนะนำในการจัดการด้านการผลิตอย่างครบวงจรตลอดเวลาทำให้ไม่มีปัญหาในการทำการผลิต ซึ่งเหล่านี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเลย
“พอเจอเหตุการณ์แบบนี้เรารู้ได้เลยว่ามาถูกทางแล้วที่ได้เข้าไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ก่อนหน้านี้ เหมือนเป็นแสงส่องนำทาง เกิดผลิตผลให้เราแล้วในวันนี้ สามารถนำมาดำรงชีพได้ในทุกสถานการณ์ จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ให้กับประชาชนชาวภาคเหนือทำให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง ไม่ว่าสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ จะเป็นเช่นใด“ นายสาธิตกล่าว