xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่เตรียมเปิดระบบ “ก๋ำแปงเวียง” รับชาวต่างชาติลงทะเบียนรับวัคซีนโควิด-19-พบ 2 คลัสเตอร์ติดเชื้อเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - เชียงใหม่เตรียมเริ่มเปิดระบบให้ชาวต่างชาติลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านเว็บ “ก๋ำแปงเวียง” ตั้งแต่ 3 มิ.ย. 64 พร้อมพัฒนาระบบ GIS ฐานข้อมูลผู้ใช้แรงงานเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในแคมป์คนงาน ขณะที่สถานการณ์โรคพบ 2 คลัสเตอร์ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม


วันนี้ (2 มิ.ย. 64) ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ แถลงสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ระลอกเดือนเมษายนจังหวัดเชียงใหม่ประจำวัน โดย ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 3 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเป็น 4,096 ราย รักษาหายแล้ว 3,987 ราย ยังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภทจำนวน 85 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 24 ราย ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 54 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 21 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 6 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) 4 ราย


ขณะที่การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเมื่อวานนี้ (1 มิ.ย. 64) ทำการตรวจไปจำนวน 1,064 ราย พบผู้มีผลบวก 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.28 ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าการสัมผัสในครอบครัวยังคงสูง แต่ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้ลดลงมาก ส่วนคลัสเตอร์ของจังหวัดเชียงใหม่วันนี้ มีคลัสเตอร์ที่ปลอดภัยแล้ว 9 คลัสเตอร์ โดยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มา 28 วันแล้ว ยังคงเหลือคลัสเตอร์ที่เฝ้าระวังอยู่ 12 คลัสเตอร์ และมีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอีก 3 คลัสเตอร์ ซึ่งในวันนี้มีคลัสเตอร์ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 2 คลัสเตอร์ ประกอบด้วยคลัสเตอร์สันนาเม็ง อำเภอสันทราย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 1 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์นี้สะสมเป็น 14 ราย และได้ทำการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงไป 29 ราย และเสี่ยงต่ำอีก 27 ราย อีกคลัสเตอร์เป็นคลัสเตอร์บ้านแพะ ข่วงเปา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์นี้สะสมเป็น 17 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้เกิดจากการสัมผัสในสถานที่ทำงาน เขตอำเภอเมือง ตรวจผู้มีความเสี่ยงสูงไปแล้ว 123 ราย และเสี่ยงต่ำ 97 ราย และผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 1 รายในวันนี้มาจากการระบาดในเหตุการณ์ที่เฝ้าระวังพื้นที่ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย


สำหรับยอดการจองฉีดวัคซีนของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 194,834 ราย จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปลงทะเบียนจองวัคซีนผ่านเว็บไซต์ “ก๋ำแปงเวียง” โดยกลุ่มผู้ที่จองผ่านระบบหมอพร้อมแล้วไม่ต้องลงทะเบียนใหม่เนื่องจากระบบได้เก็บฐานข้อมูลไว้ให้แล้ว ส่วนหน่วยงาน/องค์กรที่ส่งรายชื่อให้สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่แล้วไม่ต้องทำการจองคิวในเว็บไซต์ “ก๋ำแปงเวียง” อีก ขณะที่แรงงานต่างด้าวในแคมป์คนงานต่างๆ ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อจากนายจ้างของแต่ละแคมป์คนงาน ส่วนชาวต่างชาติที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนจองวัคซีนในระบบหมอพร้อม สามารถลงทะเบียนที่เว็บไซต์ “ก๋ำแปงเวียง” ได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (3 มิ.ย. 64) โดยใช้เลขพาสปอร์ตในการจอง และจะมีวัคซีนให้เลือกอยู่ 2 ชนิด คือ แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ทั้งนี้ หากพบปัญหาในการลงทะเบียน สามารถติดต่อที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่ออำนวยความสะดวก


ด้านนายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการกำกับดูแล ป้องกัน แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มของแรงงานต่างด้าวว่า สองวันก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอมาตรการในการกำกับดูแลกลุ่มแรงงานต่างด้าว มาตรการป้องกันการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งการให้ทุกแคมป์คนงานมีการประเมินความปลอดภัยตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขทุกๆ วัน ทั้งนี้ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้พัฒนาโปรแกรมระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ GIS ฐานข้อมูลผู้ใช้แรงงานชั่วคราว (แคมป์คนงาน) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งระบบดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคฯ สำรวจ ติดตาม วางแผน และเฝ้าระวัง โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่อำเภอและจังหวัดเชียงใหม่


โดยจะสามารถระบุพิกัดที่ตั้งของแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่อำเภอต่างๆ ได้ และสามารถระบุจำนวนคนงานก่อสร้าง แยกเป็น วิศวกร หัวหน้าคนงาน แรงงานคนไทย และแรงงานต่างด้าว เพื่อนำมาวางแผนและประเมินความเสี่ยงในการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจติดตามมาตรการควบคุมโรคของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ ตลอดจนประสานขอข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีจำเป็นเร่งด่วนได้ ซึ่งจะช่วยในการตรวจประเมินความเสี่ยง และมีข้อมูลในการบริหารจัดการแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรองโรค และการควบคุมแรงงานให้อยู่ในพื้นที่ ทั้งยังเป็นระบบรายงานการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ ตำบล อีกด้วย ขณะที่ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2564 มีที่พักแรงงานชั่วคราวจำนวน 74 แห่ง มีแรงงานประมาณ 2,000 คน กระจายอยู่ใน 18 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่










กำลังโหลดความคิดเห็น