xs
xsm
sm
md
lg

โปลิศเมืองน้ำดำตั้งทีมคลี่คลายคดีแม่ค้าขายของชำถูกหลอกโอนเงิน 39 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - ตำรวจตั้งทีมสอบสวนคลี่คลายคดีแม่ค้าขายของชำเข้าแจ้งความถูกหลอกให้โอนเงิน 39 ล้านบาท ให้สองผัวเมียชาวมหาสารคามมานานกว่า 2 ปี เพื่อใช้วิ่งเต้นถอนอายัดเงิน 1 หมื่นล้านบาท แลกค่าตอบแทน 5,000 ล้านบาท โดยเตรียมเรียกพยานบุคคล และผู้เสียหายให้ปากคำเพิ่มเติมอีก 10 ปาก ขณะที่แม่ค้าผู้เสียหายเดินทางให้ปากคำเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวนและอยู่ในอาการเครียด


จากกรณี นางอาภา ภูขะมา อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 6 บ้านดอนกลอย ต.หนองอิเฒ่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นำหลักฐาน ทั้งเอกสารจำนวนกว่า 200 หน้า พร้อมภาพถ่าย คลิปเสียง และสลิปโอนเงิน เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อ้างว่า ถูกสองสามีภรรยาชาว จ.มหาสารคาม หลอกให้โอนเงินหลายครั้งระหว่างปี 2558-2560 สูญเงินรวมกว่า 39 ล้านบาท เพื่อถอนอายัดเงิน 1 หมื่นล้านบาท ในธนาคารแห่งชาติ และเป็นค่าวิ่งเต้นถอนอายัดจาก ปปง.แลกกับค่าตอบแทนที่จะได้ 5,000 ล้านบาท ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุด เวลา 13.00 น. วันนี้ (19 พ.ค.) ที่ สภ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางอาภา ภูขะมา อายุ 48 ปี ได้เดินทางเข้าให้ปากคำเพิ่มเติมกับ ร.ต.อ.วิรัตน์ วงค์สอน รองสารวัตร(สอบสวน) สภ.ยางตลาด เจ้าของคดี โดยมี พ.ต.อ.ศิลปชัย พงศ์วัชรจินดา ผกก.สภ.ยางตลาด และ พ.ต.ท.ปฏิวัติ ประวิเศษ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.ยางตลาด ดูแลคดีอย่างใกล้ชิด โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความเครียด นางอาภา ผู้เสียหายยังไม่พร้อมที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าว เนื่องจากอยู่ในระหว่างให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน

ด้าน พ.ต.อ.ศิลปชัย พงศ์วัชรจินดา ผกก.สภ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่เมื่อวานนี้ (18 พ.ค. 64) นางอาภา ผู้เสียหาย ได้นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน แต่ยังสอบปากคำไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 และข้อมูลค่อนข้างละเอียด ซับซ้อน พนักงานสอบสวนจึงได้เรียกมาสอบปากคำเป็นการเพิ่มเติม เบื้องต้นค่อนข้างจะมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากเมื่อวานนี้ในบางประการ เช่น จำนวนตัวเลขที่โอนเงิน วัน เวลา และสถานที่ที่โอนเงิน และสถานที่นัดรับเงินกัน บางส่วนไม่ตรงกับที่ให้ปากคำเมื่อวาน จึงมีการสอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง

จึงทำให้บรรยากาศการสอบปากคำค่อนข้างตึงเครียด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานสอบสวนได้ให้อิสระแก่ผู้เสียหาย ในการให้ปากคำและนำหลักฐานอ้างอิง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำสำนวน และดำเนินการในขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป


จากข้อมูลเบื้องต้นที่รับรายงานจากพนักงานสอบสวน ทราบว่า นางอาภา ผู้เสียหายระบุว่าถูกสองสามีภรรยาชาว จ.มหาสารคาม หลอกให้โอนเงินและมายืมเงิน โดยนัดสถานที่รับเงินตามจุดต่างๆไปตั้งแต่ปี 2558-2560 รวมจำนวน 39 ล้านบาท แต่หลักฐานที่นางอาภา นำมาแสดงทั้งการทำสัญญากู้เงินสดที่เขียนด้วยลายมือ และสลิปการโอนเงินผ่านธนาคารต่างๆพบมี 25 ครั้ง รวมจำนวนเงินประมาณ 16 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนที่เหลือไม่ครบตามจำนวน 39 ล้านบาท นางอาภา ระบุว่า เป็นมูลค่าทรัพย์สินอื่นๆ เช่นนำเอาที่ดินไปจำนองแล้วส่งเงินไปให้

ในส่วนของข้อมูลเพิ่มเติมที่นางอาภาให้การกับพนักงานสอบสวนในวันนี้ อ้างว่า ยังมีพยานบุคคลและผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อในลักษณะเดียวกันที่ถูกสองสามีภรรยาชาว จ.มหาสารคาม หลอกให้โอนเงินอีกจำนวน 10 คน ซึ่งตำรวจจะได้เชิญตัวมาสอบปากคำในโอกาสต่อไป ขณะเดียวกัน ก็จะได้ตั้งคณะทำงานทีมสืบสวน และทีมสอบสวน เพื่อตรวจเช็กชื่อ นามสกุล ประวัติ และติดตามตัวผู้ที่ถูกกล่าวหา เพื่อเรียกตัวมาสอบปากคำตามขั้นตอนต่อไป


พ.ต.อ.ศิลปชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า สองสามีภรรยาชาว จ.มหาสารคาม ได้เปิดบัญชีรับการโอนเงิน ธนาคารไหน สาขาไหน หรือมีเงินโอนเข้าบัญชีจำนวน 1 หมื่นล้าน ตามที่นางอาภา ผู้เสียหายให้การ จนนำมาสู่การอายัดของธนาคารแห่งชาติ และ ปปง.และหลอกให้โอนเงินนั้น เจ้าหน้าที่จะประสานข้อมูลตรวจสอบจริงต่อไป และจะเรียกพยาน รวมทั้งผู้เสียทั้ง 10 คน ที่นางอาภากล่าวอ้างมาสอบปากคำ หลังเจ้าหน้าที่สอบปากคำนางอาภาเสร็จ เพราะถือเป็นกรณีต่างกรรมต่างวาระ

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่หลายคนตั้งข้อสังเกตและสงสัยว่าเงินจำนวน 39 ล้านบาท ที่ผู้เสียหาย ซึ่งมีอาชีพเป็นแม่ค้าขายของชำถูกหลอกยืมและโอนไปให้สองสามีภรรยาชาว จ.มหาสารคาม เพื่อถอนอายัดเงินจำนวน 1 หมื่นล้านบาท จากธนาคารแห่งชาติ และเป็นค่าวิ่งเต้นถอนอายัดนั้นเป็นจำนวนเงินที่มาก จำนวนเงินดังกล่าวมาจากไหน ซึ่งก่อนหน้านี้ นางอาภา ได้ให้ข้อมูลว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินเก็บจากการไปทำงานต่างประเทศมาหลายปี และเป็นเงินที่ได้จากเปิดร้านขายของ รวมทั้งเป็นเงินที่สามี ซึ่งทำงานอยู่ที่ประเทศไต้หวันส่งมาให้ทุกเดือน และเป็นเงินที่นำที่ดินไปจำนอง


กำลังโหลดความคิดเห็น