น่าน - ทึ่ง! “บ้านผาขวาง” เมืองน่าน ชุมชนไร้เผาป่านานกว่า 2 ปีแล้ว บทพิสูจน์ศักยภาพและความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในการพลิกวิกฤตจากถูกตราหน้าเป็นต้นตอปัญหาฝุ่นควันไฟป่าภาคเหนือ สู่การตั้งปณิธานเป็น “หมู่บ้านปลอดการเผา” จนประสบผลสำเร็จและเป็นตัวอย่างแก้ปัญหายั่งยืน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าภาคเหนือที่ทุกจังหวัดต่างต้องระดมกำลังทุกภาคส่วนและดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมป้องกันการเผาทุกชนิดที่เป็นสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะการเผาในพื้นที่ป่า ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่สามารถป้องกันและลดการเผาป่าลงได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พบว่าในพื้นที่บ้านผาขวาง หมู่ 4 ตำบลบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ถือเป็นกรณีตัวอย่างในการป้องกันแก้ไขปัญหาจากการที่ไม่มีการเกิดไฟไหม้ป่าในพื้นที่ต่อเนื่องกันมากกว่า 2 ปีแล้ว จากการที่ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมแรงร่วมใจกัน พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายนคร ผาแก้ว ผู้ใหญ่บ้านบ้านผาขวาง เปิดเผยว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีผู้คนอยู่อาศัยมากว่า 200 ปี หรือเมื่อประมาณปี 2354 ตามคำบอกเล่าของพ่อสนิท พรมโน ชาวบ้านผาขวางแต่ดั้งเดิมเป็นคนไทยเชียงแสน จ.เชียงราย ได้อพยพเดินทางลัดเลาะตามแม่น้ำน่านมาเรื่อยๆ จนมาเห็นพื้นที่ราบลุ่มภูเขาสูงที่อุดมสมบูรณ์และมีแม่น้ำน่านซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงผู้คน จึงได้ทำการเพาะปลูกและลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวกันที่นี่ ชื่อหมู่บ้านผาขวางนั้นเพราะบริเวณนี้มีหินผาจำนวนมากขวางกั้นแม่น้ำน่าน จึงเรียกกันว่า “บ้านผาขวาง”
ทั้งนี้ บ้านผาขวางมีประชากรทั้งหมด 141 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจะหนีไม่พ้นที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเผาวัชพืชเพื่อทำไร่ เผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก เป็นเครื่องมือเดียวที่เป็นต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด การล่าสัตว์หาของป่าก็เช่นกันที่จะต้องเผาเพื่อไล่สัตว์ป่าให้ออกมา การถูกกล่าวหานี้ทำให้คนบ้านผาขวางลุกขึ้นมาจัดการตนเองโดยจัดประชาคมในหมู่บ้าน วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางออกร่วมกัน โดยมีจุดหมายเดียวกันของคนทั้งหมู่บ้านคือ “ต้องเป็นหมู่บ้านปลอดการเผา” ให้ได้
ชาวบ้านได้เริ่มลงมือในปี 2555 ด้วยการจัดการกับวัชพืชในพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่ไร่ เพื่อลดการเผา ได้มีเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดน่าน มาให้ความรู้ในการนำเศษวัชพืชมาทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ การเพาะเห็ดฟางจากฟางข้าว การส่งเสริมการทำอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านจะมีการรวมกลุ่มกันทำข้าวแคบสมุนไพร ซึ่งเป็นการแปรรูปอาหารและได้เป็นสินค้าโอทอป (OTOP) ของหมู่บ้าน การทำจักสานจากไม้ไผ่ในกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น ตะกร้า ชะลอม ฯลฯ และชิ้นงานเด่นอีกชิ้น คือ การแปรรูปไม้ไผ่เป็นหมวกถัก โดยกลุ่มแม่บ้านจะแบ่งหน้าที่กัน คนสานไม้ไผ่ คนประกอบเย็บขึ้นรูปหมวก และการตลาดเพื่อนำออกจำหน่ายสร้างรายได้ให้กลุ่มแม่บ้าน ไม้ไผ่ที่นำมาแปรรูปถือเป็นผลผลิตจากการที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลป่า โดยนำภูมิปัญญาดั้งเดิมที่กำลังจะหายไปให้กลับมาอีกครั้ง และทำให้ทั้งผู้สูงอายุและกลุ่มแม่บ้านมีงานทำและสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง
ขณะเดียวกันยังมีธนาคารขยะ ชาวบ้านได้เข้ารับการอบรมการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี นำมาสู่การจัดตั้งธนาคารขยะ โดยขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ก็จะคัดแยกไว้แล้วนำไปขาย ส่วนขยะเปียกชาวบ้านนำมาทำน้ำหมักชีวภาพใช้รดพืชผลทางการเกษตร ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรพื้นบ้าน เป็นการปลูกสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อให้เยาวชนและชาวบ้านในหมู่บ้านได้รู้จักและเรียนรู้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรท้องถิ่น ซึ่งดำเนินงานโดย อสม.
พร้อมกันนี้ยังมีการทำแนวกันไฟ โดยจัดชุดเฝ้าระวังไฟป่าทั้งหมด 15 คน แบ่งเป็นชุดย่อยชุดละ 5 คนเพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่เฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่ และชุดเคลื่อนที่เร็ว เป็นชุดที่สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ทันท่วงที ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปีชาวบ้านในหมู่บ้านทุกหลังคาเรือนจะออกมาช่วยกันทำแนวกันไฟ และการสร้างฝายชะลอน้ำ นอกจากไว้ชะลอน้ำในช่วงน้ำหลาก มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้งแล้ว ยังเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อไว้ใช้ดับไฟป่าเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นสามารถเข้าดับไฟได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ จากเป้าหมายเดียวกันของคนทั้งหมู่บ้านที่จะเป็นหมู่บ้านปลอดการเผา ในปี 2557 ทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้เล็งเห็นความสำคัญว่าบ้านผาขวางมีการจัดการที่ดีในการเป็นหมู่บ้านปลอดการเผา จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินงานเป็นศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านปลอดการเผาของจังหวัดน่าน มีการสร้างกฎระเบียบ มาตรการลดการเผา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดน่านและของประเทศ โดยในพื้นที่จังหวัดน่านจะมีการกำหนดระยะเวลาห้ามเผาโดยเด็ดขาดในช่วงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน รวมเป็นระยะเวลา 75 วัน หากคนในหมู่บ้านฝ่าฝืนหรือทำผิดกฎระเบียบของหมู่บ้านจะต้องเสียค่าปรับ
ผู้ใหญ่บ้านบ้านผาขวางเล่าว่า ในการสื่อสารกันเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์จะใช้ช่องทางกรุ๊ปไลน์ (LINE) ส่งข้อมูลให้กันและประกาศเสียงตามสายเพื่อให้ลูกบ้านได้รับรู้สถานการณ์ นอกจากในพื้นที่แล้วในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการเชื่อมโยงในระดับเครือข่ายภาค เครือข่ายระดับประเทศ เพื่อหนุนช่วย ประสานงาน ซึ่งจากการที่พื้นที่จังหวัดน่านถูกข้อหาว่าเป็นผู้เผาป่า เป็นคนก่อให้เกิดหมอกควันส่งผลกระทบไปทั่วจังหวัดและภาคเหนือ จึงเป็นแรงบันดาลใจและเกิดความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับผู้คนในพื้นที่เพื่อลบข้อกล่าวหาจนเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งบ้านผาขวางไม่เกิดไฟป่ามานานกว่า 2 ปีแล้ว ถือเป็นความภูมิใจที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าชาวบ้านมีศักยภาพสามารถแก้ไขปัญหาได้หากร่วมมือกันและได้รับการสนับสนุนส่งเสริม