xs
xsm
sm
md
lg

“โรงพยาบาลสนามจิ๋ว” คำตอบที่จะทำให้ผู้ป่วยหนักมีเตียงว่างในโรงพยาบาลหลักอย่างเพียงพอ/ผศ.นพ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์โควิดระลอกสาม ที่กำลังขยายออกไปอย่างกว้างขวาง โดยพบยอดผู้ติดเชื้อสะสม ผู้ติดเชื้อรายวัน และจำนวนผู้เสียชีวิต ทยอยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

1 เมษายน 64 ผู้ติดเชื้อสะสม 28,889 ราย ติดเพิ่มรายวัน 26 ราย เสียชีวิตสะสม 0 ราย
10 เมษายน 64 ผู้ติดเชื้อสะสม 31,658 ราย ติดเพิ่มรายวัน 789 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย
20 เมษายน 64 ผู้ติดเชื้อสะสม 45,185 ราย ติดเพิ่มรายวัน 1443 ราย เสียชีวิตสะสม 14 ราย
และเมื่อวันที่ 27 เมษายน 64 มีผู้ติดเชื้อสะสม 59,687 ราย ติดเพิ่มรายวัน 2179 ราย เสียชีวิตสะสม 69 ราย


โดยมีผู้ครองเตียงอยู่ในโรงพยาบาลหลัก 20,300 เตียง เกือบจะเต็มศักยภาพแล้ว โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามอีก 5665 ราย เหลือรองรับได้อีกประมาณ 15,000 เตียง

ถ้าเรามีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละ 2000 ราย และจำหน่ายให้กลับบ้านได้วันละ 1000 ราย ก็จะมีผู้เข้าครองเตียงเพิ่มวันละ 1000 เตียง อีก 15 วัน เตียงก็จะเต็ม

จึงได้มีการกล่าวถึงหรือเตรียมการพูดถึง การกักตัวที่บ้าน (Home Quarantine) สำหรับกรณีผู้ติดเชื้อ ไม่มีอาการ แต่ยังแพร่เชื้อได้ซึ่งจะทำได้ยาก ถ้าหวังผลให้ป้องกันการแพร่ระบาดจริงๆ เนื่องจากครอบครัวไทยโดยเฉพาะในต่างจังหวัด มักมีห้องน้ำและห้องอาหารเพียงห้องเดียว แยกการใช้กับบุคคลอื่น หรือสมาชิกในครอบครัวได้ยาก

ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทาง การกักตัวที่บ้าน แต่เป็นสถานที่ประจำหมู่บ้านแทน ขอเรียกว่า “โรงพยาบาลสนามจิ๋ว”

โดยในแต่ละหมู่บ้าน มักจะมีศูนย์การเรียนรู้ประจำหมู่บ้าน ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน หรือแม้กระทั่งโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีนักเรียนแล้ว หรือปิดชั่วคราวอยู่ในขณะนี้

สามารถนำมาปรับปรุง เป็นโรงพยาบาลสนามจิ๋วประจำหมู่บ้านได้ (รับดูแล 5-10 ราย) โดยใช้งบประมาณเพียงเล็กน้อย เพื่อปรับปรุงสถานที่ เตรียมข้าวของอุปกรณ์ที่จำเป็น

ส่วนการเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อม ในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ก็ไม่ได้ยุ่งยากมาก ใช้เจ้าหน้าที่ระดับอสม. เป็นหลัก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เป็นพี่เลี้ยง ภายใต้การประสานงานของผู้ใหญ่บ้านและกำนันหรืออบต.

เราก็จะได้โรงพยาบาลสนามจิ๋ว ที่ขยายตัวได้ถ้าจำเป็น นับเป็น 10,000 แห่ง ตามจำนวนหมู่บ้านที่มี( รองรับแห่งละ 10 คน) รวมดูแลได้นับแสนคน เพื่อที่จะรองรับความคับคั่งของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลหลัก

โดยโรงพยาบาลสนามจิ๋ว จะเป็นที่รองรับผู้ที่ตรวจพบเชื้อแต่ไม่แสดงอาการตั้งแต่ต้น หรือรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อยอยู่ในโรงพยาบาลสนาม เมื่อหมดอาการแล้ว แต่ยังไม่ผลระยะกักตัว คือสามารถแพร่เชื้อได้ ก็ให้กลับมาพักที่โรงพยาบาลสนามจิ๋ว ก็จะเกิดระบบเตียงของการดูแลผู้ติดโควิดดังนี้

1) โรงพยาบาลหลัก มีเตียงประมาณ 20,000 เตียง ให้ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง อาการหนัก และอาการหนักมากที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

2) โรงพยาบาลสนาม มีเตียงประมาณ 20,000 เตียง ให้ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ซึ่งมาจากสองทางคือ ตรวจพบติดเชื้อและมีอาการเล็กน้อยตั้งแต่ต้น
หรือรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรืออาการหนักที่อาการดีขึ้น จนเหลืออาการเล็กน้อยจากโรงพยาบาลหลัก

3)โรงพยาบาลสนามจิ๋ว รับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ โดยรับมาจากผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบโดยไม่มีอาการตั้งแต่แรก หรือรับส่งต่อมาจากโรงพยาบาลสนามที่มีอาการเล็กน้อย เมื่อหายดีแล้วแต่ยังอยูในระยะกักตัว

ส่วนในเขตเมือง โรงพยาบาลสนามจิ๋วมีลักษณะทำนองเดียวกับ Hospitel อพาร์ทเม้นท์หรือหอพัก ที่จะจัดการกันต่อไป

การดำเนินการดังกล่าว ใช้งบประมาณไม่มากบุคลากร ไม่ต้องมีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ ก็อบรมกัน ใช้เวลาไม่มากนักเพื่อทำให้ระบบโรงพยาบาล หรือระบบสาธารณสุขไม่ล่มสลายลงไปเสียก่อน ผู้ป่วยหนัก จะมีเตียงรองรับในโรงพยาบาลหลัก ผู้ป่วยอาการน้อย ก็จะมีเตียงในโรงพยาบาลสนาม

ขณะเดียวกันผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ แต่จำเป็นต้องกักตัวที่บ้าน ซึ่งอาจจะแพร่เชื้อได้ ก็มาอยู่ในโรงพยาบาลสนามจิ๋วในระหว่างที่ระบบทั้งหมด กำลังทำงานในเชิงรับดังกล่าว ก็เร่งทำงานเชิงรุกคู่ขนาน โดยการเข้าควบคุมอำเภอหรือจังหวัดที่มีการติดเชื้อสูง โดยการล็อกดาวน์เป็นบางเขต ประกาศเคอร์ฟิวเป็นบางเขต และเร่งจัดหาวัคซีน ตลอดจนกระจายการฉีดวัคซีนออกไปให้มากที่สุด

ซึ่งขณะนี้ก็มีข่าวดีว่า เราจะมีวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ประมาณ 80,000,000 เข็ม คาดว่าจะหาได้อีก 20,000,000 เข็ม
รวมเป็น หนึ่งร้อยล้านเข็ม ถ้าระดมฉีดให้ได้วันละ 4 แสนเข็ม เดือนละ 12 ล้านเข็ม ถึงสิ้นปีก็จะฉีดได้ 100 ล้านเข็มพอดี

โดยศักยภาพโรงพยาบาลของรัฐในปัจจุบัน ที่ฉีดวัคซีนให้กับเด็กในคลินิกเด็กดี สามารถฉีดได้วันละ 300-500 ราย เมื่อใช้โรงพยาบาลประมาณ 1000 แห่ง ก็จะสามารถฉีดได้วันละ 3-5 แสนเข็ม

โรงพยาบาลสนามจิ๋ว! จึงเป็นคำตอบสำคัญ ที่จะทำให้เกิดเตียงว่างทั้งในโรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสนามตลอดจนมาทดแทนการกักตัวที่บ้าน ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยง ที่จะเกิดการแพร่ระบาดต่อสมาชิกในครอบครัวได้

บทความโดย ผศ.นพ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
สมาชิกวุฒิสภาไทย


ติดตามข้อคิดเห็นน่าสนใจที่ ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย https://www.blockdit.com/pages/5eba49da9801350cae915b69


กำลังโหลดความคิดเห็น