xs
xsm
sm
md
lg

บุรีรัมย์งัดมาตรการเข้ม! แขวนป้าย “ครอบครัวสีแดง-เหลือง” สกัดแพร่เชื้อโควิด หลังยอดป่วยพุ่งต่อเนื่อง 92 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บุรีรัมย์ - จ.บุรีรัมย์เพิ่มมาตรการเข้ม “ครอบครัวสีแดง” มาจากพื้นที่สีแดงกักตัวตัว 14 วัน และ “ครอบครัวสีเหลือง” มาจากจังหวัดไม่เสี่ยงกักตัว 10 วัน ระบุมีป้ายแขวนแยกรายครัวเรือนเพื่อเตือนตัวเอง-เพื่อนบ้าน และคนมาจากต่างหมู่บ้านได้รู้ตระหนักป้องกันเชื้อแพร่กระจาย หลังยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง 92 ราย เสียชีวิต 1 ลั่นไม่สวมมาสก์จับปรับและเอาผิดเจ้าของสถานที่ด้วย

วันนี้ (27 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม ชั้น 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย นายพิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ นพ.ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์ และ นพ.ยุทธนา สุริยะ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน ร่วมกันแถลงข่าวถึงสถานการณ์ และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์


นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา จึงได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เข้มข้นมากขึ้น อย่างเช่น มีการแพร่ระบาดกันระหว่างคนบุรีรัมย์ด้วยกันเอง หมายความว่า ร้อยละ 70 ที่ติดเชื้ออยู่ จากจำนวน 92 คน จะเป็นการติดเชื้อมาจากจังหวัดอื่น นอกพื้นที่เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่มีการติดเชื้อระหว่างที่เข้ามาแล้วติดเชื้อในจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณกว่า 10 คน

ส่วนสถานการณ์ที่มีการติดเชื้อผิดไปจากสมมติฐานที่เราตั้งไว้ คือ คนที่เข้ามาแล้วปรากฏว่ามีการติดเชื้อ และระยะเวลาของการฟักเชื้อนานกว่า 10 วัน ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นที่ อ.นางรอง ทำให้ยอดของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 10 กว่าคน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์จึงได้ออกมาตรการที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งโดยปกติได้ดำเนินการตามมาตรการของทาง ศบค.ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว เช่น การปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมด สถานบริการ คาราโอเกะ เป็นต้น


ส่วนการที่มีมาตรการจัดลำดับของคนที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดง การที่เรากำหนดให้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงสถานประกอบการจะต้องจัดให้มีการให้ผู้มาใช้บริการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้มาตรการของทาง ศบค.

แต่ถ้าหากว่ามีการนำเชื้อเข้ามาหรือว่ามีการแพร่เชื้อมากกว่านี้จะกระทบต่อการที่จะรักษาของผู้ติดเชื้อ เพราะระยะเวลารักษาตัวไม่น้อยกว่า 14 วันในโรงพยาบาล ในครั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์จึงมีมติว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่มาควบคุม โดยควบคุมคนที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่เข้ามาจังหวัดบุรีรัมย์

ผู้ที่มาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่สีแดง 18 จังหวัด ต้องกักตัว 14 วัน รวมถึงหากถ้าเข้ามาในพื้นที่แล้วไปพักในพื้นที่ใด เราจะมีการแยกย่อยไป กำหนดให้แต่ละครอบครัวที่มีผู้เดินทางมาแล้วติดเชื้อ เป็นครอบครัวสีแดง เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจ ทำให้เกิดความตระหนักว่าครอบครัวนี้มีคนที่เสี่ยงสูง หมายความว่าเป็นผู้เสี่ยงสูงเดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่สีแดง ซึ่งตัวเองจะต้องระลึกเตือนตัวเองว่าเราจะไม่ไปสุงสิงกับใคร ไม่ไปร่วมกิจกรรมที่มีคนเยอะ เพราะเราอาจจะมีเชื้อ ซึ่งตรงนี้มองไม่เห็น หากมีเชื้อไปติดกับคนอื่นจะทำให้เพื่อนบ้าน หรือจังหวัดบุรีรัมย์ของเราได้รับความเดือดร้อน จึงต้องแยกแบบนี้


รวมถึงเป็นการเตือนพี่น้องประชาชนว่าบ้านนี้กำลังกักตัวเองอยู่ จะได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ทั้ง อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตรงนี้เป็นการแยกในเรื่องของครัวเรือน เพื่อที่จะทำให้เรามีความสามัคคี แล้วเราจะสามารถจัดการตรงนี้ ไม่ให้เชื้อที่นำเข้ามาแพร่ระบาดในจังหวัดบุรีรัมย์เพิ่มมากกว่านี้

ในส่วนของผู้ที่มาจากจังหวัดที่ไม่เสี่ยง แต่อาจไปสัมผัสพื้นที่เสี่ยงหรือบุคคลที่เสี่ยง เราก็กำหนดให้เป็นครัวเรือนสีเหลือง จะมีป้ายสีเหลือง เป็นการแยกในรายครัวเรือน เพื่อเตือนตนเอง เตือนเพื่อนบ้าน หรือว่าเตือนคนที่มาจากต่างหมู่บ้านจะได้รู้ รวมถึงได้เตือนเจ้าหน้าที่ด้วยว่า หลังนี้ต้องให้ความดูแลเป็นพิเศษ ตนอยากจะให้คนบุรีรัมย์เข้าใจว่าตรงนี้เป็นความจำเป็นที่เราต้องแยกในระดับครัวเรือน เพื่อที่เราจะควบคุมสถานการณ์ได้ หากเราไม่แยกก็ผสมปนเปกันไปก็จะมีการดื้อ ก็จะทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดหนักขึ้น


สำหรับผู้ที่เดินทางมาผ่านช่องทางต่างๆ จะให้ทางส่วนราชการรับผิดชอบ เช่น มาทางเครื่องบิน จะให้ทางท่าอากาศยานรับผิดชอบ มาทางรถไฟให้การรถไฟฯ รับผิดชอบ มาทางรถขนส่งโดยสารประจำทาง ให้ขนส่งจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ในการดูแลให้คนบุรีรัมย์ที่ไปทำงานที่อื่นเดินทางกลับมา

อีกมาตรการหนึ่งที่คณะกรรมการโรคติดต่อมีมติ คือ เรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เดิมบังคับอยู่แล้ว แต่คราวนี้ใช้มาตรการเข้มขึ้น สถานประกอบการใด หน่วยงานใด ที่ปล่อยให้คนที่มาเที่ยว หรือที่มาในสถานที่ของท่าน แม้กระทั่งส่วนราชการ ถ้าปล่อยให้คนไม่สวมหน้ากากอนามัยเข้าไปในสถานที่นั้น ท่านจะต้องถูกปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ และอีกอย่างหนึ่ง คณะกรรมการโรคติดต่อ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะสั่งปิดสถานประกอบการ เพราะว่าเรามองว่าทุกภาคส่วนของบุรีรัมย์ราต้องช่วยกัน โดยเฉพาะสถานประกอบการ หรือว่าส่วนต่างๆ ที่ใช้จัดงานทำให้เกิดการแพร่ระบาด


“ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราได้กำหนดในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดครั้งที่ผ่านมา และได้ประกาศใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป เป็นการบังคับใช้ขอความร่วมมือพี่น้องคนบุรีรัมย์เราได้ปฏิบัติตามมาตรการของทาง ศบค.อย่างเคร่งครัด รวมถึงมาตรการของจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อมุ่งหวังที่จะทำให้บุรีรัมย์สามารถปราศจากโควิด-19” นายธัชกรกล่าวในตอนท้าย

ล่าสุดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์รายงานข้อมูลสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่เมษายนของ จ.บุรีรัมย์ (26 เม.ย. 64) ระบุว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย รักษาหาย 12 ราย อยู่ระหว่างรักษา 79 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 92 ราย กระจายใน 16 อำเภอ


กำลังโหลดความคิดเห็น