เพชรบุรี – เปิดใจพ่อ พร้อม แฝดสาม สอบติด แพทย์ชนบทมหิดลพร้อมกันทั้งสามคน เผยก่อนหน้านี้เคยรู้สึกหนักใจและกังวล กลัว มีคนใครคนหนึ่งสอบไม่ติดแล้วจะรู้สึกน้อยใจ กังวลความรู้สึกของลูก แต่ขณะนี้โล่งใจแล้วเป็นปลื้มมาก
หลังมีการแชร์ข้อมูลแฝดสาม สร้างประวัติศาสตร์ กอดคอกันเข้าศึกษาต่อหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ปีการศึกษา 2564 ศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลราชบุรี ในโครงการโควตา กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน และกลุ่มแพทย์ลดความเหลื่อมล้ำ จำนวน 32 คน สร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์และความยินดีกับครอบครัวดังกล่าวจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านพักของครอบครัวดังกล่าวที่เปิดเป็นแมนชั่นชื่อ บลูแมนชั่น ท่ายาง อยู่ริมถนนเลียบคลองชลประทานสายสาม ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งได้พบกับเด็กทั้งสามคือนายธนรัตน์ หรือ น้องปอนด์ เข็มกลัด อายุ 18 ปี พี่ชายคนโต นายธนารักษ์ หรือ น้อง ดอลลาร์ เข็มกลัด อายุ 18 ปี น้องคนรอง และนายธนพัฒน์ น้องมาร์ค เข็มกลัด อายุ 18 ปี น้องคนเล็กและบิดาคือนายไพโรจน์ เข็มกลัด หรือเฮียดำ อายุ 65 ปี
ทั้ง3 พี่น้องเกิดวันเดียวกันเวลาไล่เลี่ยกันจากการผ่าคลอด เมื่อวันที่ 31ต.ค.2545 มีพี่สาวอีกสองคน คนโตคือ นางสาวลภัสรดา ฉัตรศิริคุณากร อายุ 41 ปี รับราชการ สำนักงาน สกสค.เพชรบุรี พี่สาวคนที่สอง นางสาวสราณี เข็มกลัด อายุ 34 ปี พนักงานธนาคารออมสิน เพชรบุรี
นายไพโรจน์ เปิดเผยว่า รู้สึกภูมิใจมากที่ลูกชายฝาแฝดทั้งสามคนสามารถทำได้สำเร็จ ที่ผ่านมาให้การสนับสนุนลูกมาตลอดโดยเฉพาะทางด้านการเรียนโดยลูกทั้งสามเรียนห้องเดียวกันมาตลอดตั้งแต่ชั้น ป.1 โดยทางครอบครัวจะให้การสนับสนุนทางด้านนี้มาตลอด โดยครั้งแรกมีความหนักใจและห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง
แต่เนื่องจากผลการเรียนของลูกๆทั้งสามคนอยู่ในระดับดี จึงเชื่อมั่นว่า อย่างไรต้องมีคนใดคนหนึ่งสอบติดแน่นอน ที่หนักใจก็คือว่า หากสอบติดสองคนแล้วอีกคนสอบไม่ติด นี่แหละคือปัญหา จะทำให้เด็กมีความเสียใจ และน้อยใจว่าหากคนใดคนหนึ่งเกิดสอบไม่ติดขึ้นมา หวั่นวิตกเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่โชคดีว่า เขาทั้งสามคนสอบติดทุกคน และเลือกเรียนหมอหมดทุกคน ทำให้ทั้งพ่อและแม่โล่งอก ทั้งนี้ขอขอบคุณทุกๆท่านที่ชื่นชม และให้กำลังใจลูกชายทั้งสามคน และครอบครัวเรา
“ส่วนลูกทั้งสามคนมีความคิดและอุปนิสัยคล้ายๆกัน จะต่างคนต่างคิด แต่จะคิดคล้ายๆกัน และเมื่อต้องตัดสินใจก็จะตัดสินใจไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ต้องมีการลงมติใดๆ ข้อดีก็คือที่ทุกคนเรียนชั้นเรียนเดียวกัน ห้องเรียนเดียวกัน ทำให้สามารถปรึกษากันได้ เช่นบางคนจะไม่เข้าใจในบางเรื่องบางวิชา ก็จะถามอีกสองคนที่เข้าใจ ทำให้การเรียนรู้ไปเท่าๆกันเสริมกันและกันเป็นอย่างดี
ขณะที่แฝดทั้ง3 คน พูดคล้ายกันกล่าวว่า ตนเองและน้องชายฝาแฝดอีก 2 คน ต่างสนใจที่จะศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ ทุนโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบทของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเรียนจบชั้น ม.6 จึงสอบชิงทุนโครงการผลิตเพื่อชนบทตามความฝันของตนเอง
โดยน้องปอนด์ พี่ชายคนโต กล่าวต่ออีกว่า ตนกับน้องชายรวมทั้งหมด 3 คน มีความตั้งที่จะเรียนเป็นหมอทำงานในโรงพยาบาลชนบท จึงได้สมัครสอบชิงทุนโครงการแพทย์เพื่อชนบท มีการยื่นเกรดเฉลี่ยรวม 5 เทอมในชั้น ม.ปลาย และทำการสอบข้อเขียน 7 วิชาสามัญ ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ สอบข้อเขียนไปช่วงเดือน เม.ย.ผ่านมา ปรากฏว่าผลสอบข้อเขียนผ่านทั้ง 3 คน เข้ารับการสอบสัมภาษณ์เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. และทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้ประกาศรายชื่อเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ผ่านการคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โควตากลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน
“ตนและน้องชายได้ตอบยืนยันเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อที่เรียนจบแล้วจะกลับมาทำงานเป็นหมอประจำโรงพยาบาลในจังหวัดเพชรบุรี รักษาคนไข้ในพื้นที่ชนบท เพราะเท่าที่ทราบว่าจำนวนแพทย์ในจังหวัดเพชรบุรียังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย จึงอยากใช้ความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานตรงนี้ ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทางโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ทั้งครูแนะแนว ครูที่ปรึกษา ครูผู้สอนประจำรายวิชาได้ให้ความรู้ คำแนะนำและให้การสนับสนุนการสอบทุนโครงการแพทย์เพื่อชนบทจนประสบความสำเร็จ”